ราคาทองคำ เปลี่ยนแปลงอย่างไร การเฝ้าติดตาม “ราคาทองคำ” “ราคาทองรูปพรรณบาทละ”เป็นหนึ่งในกิจวัตร ของผู้ที่สนใจ หรือ ลงทุน ใน “ทองคำ” .. การสงสัยว่า “ราคาทองคำ วันนี้” มันราคาเท่าไหร่กันนะ?
ราคาทองคำ (Gold Prices) เปลี่ยนแปลงจากปัจจัยอะไรได้บ้าง?
การเฝ้าติดตาม “ราคาทอง” “ราคาทองคำแท่ง” “ราคาทองรูปพรรณบาทละเท่าไหร่” เป็นหนึ่งในกิจวัตรที่สังเกตได้ ของผู้ที่สนใจ ติดตามข่าวสาร หรือ ลงทุน ใน “ทองคำ”
และผู้อ่านทุกท่านเอง คงมีกิจวัตรที่ต้องทำทุกวันนี้ อย่างน้อยหนึ่งอย่าง คือ การสงสัยว่า ราคาทองวันนี้ หรือ ราคาทองคำวันนี้ มันราคาเท่าไหร่กันนะ?
อาจจะค้นหา ข่าว หรือ บทความ ต่างๆเพื่ออ่านหาความรู้เพิ่มเติม และหลายๆท่านก็คงจะมีคำถามเพิ่มขึ้นมาอีกว่า แล้วราคาที่มันผันผวนเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน มันมีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลกับมัน เอาหล่ะ เราไปเริ่มทำความเข้าใจพร้อมๆกันเลย ..
ทองคำ หรือ ทอง คืออะไร? แล้วมันมีคุณค่าอย่างไร?
ทองคำ คือ สินทรัพย์ทางการเงิน (Assets) ชนิดหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติสามารถเก็บรักษามูลค่า (Store of Value) ในตัวมันเองไว้ได้ มีความผันผวนต่ำ และเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือในระดับสากล จากทั้ง ธนาคาร สถาบันการเงิน นักลงทุน รวมถึง บริษัท ต่างๆ ซึ่งความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับนี้เอง ที่ส่งผลให้มันเป็น สินทรัพย์ที่มี สภาพคล่องที่สูง (Liquidity Assets) สามารถเปลี่ยนเป็น เงินสด (Cash) ได้ง่าย
- อุตสาหกรรมดิจิทัล มีข้อดี-ข้อเสีย ต่อ เศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไร
- อยาก “รักษ์โลก” ทำไมมันลำบากจังครับ
- ประกันสังคม ขาดทุน? เงินหาย? .. สํานักงานประกันสังคม ได้รับผลกระทบอะไร?
8 ปัจจัย ที่ส่งผลต่อ “ความต้องการถือทอง” และ “ราคาทองคำ” ในตลาดโลก
หากจะอธิบายให้ผู้อ่านของเรา เห็นภาพง่าย ๆ มากที่สุด คือ ราคาทอง เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ตามหลักอุปสงค์และอุปทาน (Demand & Supply) กล่าวคือ เมื่อความต้องการซื้อ (Demand) มากกว่า ความต้องการขาย (Supply) ราคาย่อมปรับตัวสูงขึ้น (↑) เป็นธรรมดา
แต่อะไรที่จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อ ความต้องการซื้อ หรือ “ความต้องการถือ” หรือ ความต้องการที่จะได้มาครอบครองไว้ เรามาเริ่มศึกษากันไปทีละปัจจัย
1.นโยบายทางการเงิน (Monetary Policies)
ยกตัวอย่าง : ธนาคารกลาง (Central Bank) เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (FED) มีแนวโน้มที่จะปรับ อัตราดอกเบี้ย ให้ลดลง (↓) .. นักลงทุน (Investors) ใน ตลาดเงิน (Money Market) ก็จะเริ่มมีความวิตกกังวลไปถึง แนวโน้มของเศรษฐกิจ ว่าลดทำไม? .. กระตุ้นเศรษฐกิจเศรษฐกิจหรือเปล่า เศรษฐกิจถดถอย หรือ ชะลอตัว หรือไม่
ทำให้นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจในสภาวะแบบนี้นะครับ ก็จะมีการนำเงินลงทุนออกมาจากประเทศนั้นๆ แล้วนำไปลงทุนในประเทศอื่นๆ หรือ ประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศ ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่ยังมีโอกาสในเติบโตอีกมากให้ลงทุน และ อาจจะเป็นประเทศที่ให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า รวมถึงไป ไปลงทุนใน ทองคำ ด้วยเช่นกัน
ในเมื่อเกรงว่า อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนในการลงทุนที่ดีในช่วงเวลาที่คาดหวัง ก็หันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ในประเทศอื่นๆ แทน ซึ่งการลงทุนใน ตลาดทองคำ ก็เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ รองลงมาจาก ตลาดหุ้น และ ตลาดเงิน นั่นเอง
และโดยปกติ ธนาคารกลาง ของแต่ละประเทศ จะมีการดำเนินนโยบายและบริหารจัดการเงินสำรองคงคลังของประเทศไว้ โดยการบริหารเป็นสัดส่วน ทั้ง สกุลเงินของตัวเอง สกุลเงินต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ยูโร(EURO) หยวน (CNY) เยน (JPY) และอื่นๆ เป็นต้น รวมไปถึง ทองคำ ด้วยเช่นกัน
ซึ่งการดำเนินนโยบายทางการเงินต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับ ปริมาณเงินสดและเงินคงคลังของประเทศ ย่อมส่งผลโดยตรงกับ ปริมาณตราสารทางการเงินที่ออกไปจากตลาด และ ปริมาณตราสารทางการเงินที่ออกมาในตลาดด้วยเช่นกัน เช่น สถาบันทางการเงิน มีความต้องการดำเนินนโยบายในการปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทองคำ ใน พอร์ตการลงทุน หรือ การบริหารทางการเงิน เพื่อบริหารความเสี่ยง ก็จะส่งผลกับ ความต้องการซื้อทอง ที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ราคาทองคำในตลาด ก็จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
2.การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Economy Expansion)
เมื่อผู้คนมี รายได้ (Income) เพิ่มขึ้น .. ย่อมจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น มีกำลังซื้อ (Purchasing Power) มากขึ้น ในขณะเดียวกัน คนบางกลุ่มก็จะหันไปสนใจ การออม (Savings) หรือ การลงทุน (Investment) เพิ่มมากขึ้น ทั้งในตลาดเงิน รวมถึง ทองคำ ด้วยเช่นกัน ความต้องการซื้อ หรือ ถือทอง ก็จะเพิ่มสูงขึ้น
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ : การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ของ ภูมิภาคเอเชีย (Asia’s Economy Expansion) โดย ภูมิภาคนี้ยังมี ประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่าง (Cultutes) ที่ส่งผลดี กับ ตลาดทองคำ เช่น ประเทศจีน ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ก็จะมีวัฒนธรรมที่ผู้ใหญ่จะมอบของรับขวัญให้กับ ลูกๆหลานๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินสด หรือ แม้แต่ทองคำ ทั้ง ทองคำแท่ง และ ทองรูปพรรณ ต่างๆ
หรือ ความเชื่อในเรื่องช่วงเวลา ฤกษ์ยาม ที่นิยมมีพิธีมงคลต่างๆ เช่น การแต่งงาน เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า ยังมีวัฒนธรรมการให้สินสอดทองหมั้น (Couple’s Guarunteed Assets) ไม่ว่าเป็น เงินสด โฉนดที่ดิน และทองคำ เป็นต้น และด้วยช่วงเวลานี้เอง ความต้องการทอง จะเพิ่มสูงขึ้นพร้อมๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว
ซึ่งุแน่นอน .. ถ้าหาก ภาพของเศรษฐกิจ ของพื้นที่นั้นๆไม่ดี หรือ รายได้ของคนไม่เพียงพอต่อกำลังซื้อ การให้สิ่งของต่างๆที่พูดมาก็จะมีสัดส่วนที่ลดลงโดยธรรมชาติ
3.ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD Exchange Rates)
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็น สกุลเงินกลาง ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่างๆ ระหว่างประเทศในตลาดโลก
และในชีวิตประจำวันปกติของคนเรา ก็ใช้เงินที่เป็นสกุลเงินแบบนี้ ที่เป็นตัวเงิน ในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า หรือ ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อยู่แล้ว และไม่มีใครใช้ทองใน กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ
แต่ในมุมมองของนักลงทุน นักธุรกิจ ที่มีการ ซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ที่มีมูลค่าสูง หรือ มีการถือเงินดอลลาร์เอาไว้จำนวนมาก
เมื่อ ค่าเงินดอลลาร์ มีการปรับตัวลดลง ทำให้มูลค่าสินทรัพย์โดยรวมของเจ้าของสินทรัพย์นั้นลดลง เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงเอาไว้บ้าง จึงต้องมีการแปรสภาพจาก สกุลเงินต่างๆ เป็น ทองคำ บางส่วน เพราะ ทองคำ มีคุณสมบัติที่รักษามูลค่าของมันไว้ได้ดีกว่า และ มีความปลอดภัยสูงกว่า
ดังนี้น ความต้องการถือทองคำ จึงสวนทางกับ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ นั่นเอง .. อธิบายโดยง่าย คือ โดยปกติ เมื่อ ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า เมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ หรือ มีมูลค่าสูงกว่า คนก็จะต้องการใช้ เงินดอลลาร์ มากกว่า
คงไม่มีใครอยากถือทอง ความต้องการทองก็จะอยู่ในระดับที่ต่ำ ราคาทองก็จะอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่เมื่อ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า เมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ หรือ มีมูลค่าที่ต่ำลง ความต้องการถือเงินดอลลาร์เอาไว้ย่อมลดลง และนักธรุกิจ นักลงทุนบางส่วนจะหันมาถือทองเพิ่มมากขึ้น หรือ แปรสภาพเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอื่นๆ ทำให้ความต้องการถือทองเพิ่มมากขึ้น ราคาทองก็จะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
4.อัตราผลตอนแทนสินทรัพย์อื่นๆ (%Dividend Yield of Assets)
นักลงทุน เริ่มมองเห็นว่า ผลตอบแทนจากพันธบัตร หรือ ตลาดหุ้น อาจจะให้ผลตอบแทนที่ลดลง ณ ระดับช่วงราคาและช่วงเวลาในการลงทุน ณ ตอนนั้น ถือเป็น ความเสี่ยง (Risk) อย่างหนึ่ง ที่อาจได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่านักลงทุนคนอื่นๆ ทำให้ความต้องการถือสินทรัพย์เหล่านั้นลดลง หรือ อาจจะเกิดการ เทขาย สินทรัพย์ที่ถือออกมา และหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า รวมถึงทองคำ ด้วย ความต้องการถือและราคาทองก็จะเพิ่มขึ้นนั่นเอง
พูดง่ายๆ คือ ที่ “ระดับความเสี่ยง” ที่เท่ากัน นักลงุทนย่อมเลือกลงทุนใน “สินทรัพย์” ที่ปลอดภัยกว่า ให้ “ผลตอบแทน” ที่ดีกว่า หรือ มีการคาดหวังระดับผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่ น่าพอใจ หรือ ใกล้เคียงผลตอบแทนในสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆไว้เป็นอัตราเท่านี้ แต่ มีความเสี่ยงน้อยกว่า ก็จะย้ายหรือ โยกเงิน มาลงทุนในสินทรัพย์ตัวนั้นๆ แทน
5.ปริมาณการผลิต (Gold Mine Production)
“ทอง” ถือเป็น สินทรัพย์, สิ่งของ หรือ สินค้า ที่หายาก หรือ แทบจะมีอยู่จำนวนจำกัด และต้องใช้ “ต้นทุน” ที่สูง ในการถลุง “แร่ทอง” และหลอมขึ้นรูป จนได้มาเป็น “ทองคำแท่ง” หรือ “ทองรูปพรรณ” อย่างที่เราเห็น ซึ่งหากปริมาณการผลิตต่อปี ไม่มีเพียงพอต่อ ความต้องการซื้อ แล้วหล่ะก็ ก็จะส่งผลให้ ราคาทอง ในตลาดทองคำของโลก (Gold Spot) ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งถึงแม้ว่าจะมี เหมืองแร่ทองกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก เช่น จีน อเมิรกา แอฟริกา ออสเตรเลีย แต่แน่นอนว่า มีการทำเหมืองแร่ทองมาเป็นเวลานาน ทอง ที่สามารถพบได้ง่ายบนพื้นผิวย่อมหมดไป ทำให้ต้องมีการแสวงหาแหล่งสินแร่ทองใหม่ๆ ซึ่งอาจจะหายากกว่าเดิม รวมถึง ใช้ต้นทุนและเทคโนโลยีที่สูงกว่าเดิมด้วยเช่นกัน มันก็จะยิ่งส่งผลโดยตรงต่อ ปริมาณทองคำ และ ราคาทองคำ ในตลาด
6.ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ (Oil Prices and Commudities Prices)
ใน ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือที่เรียกว่า Spot ค่าเงิน หรือ สกุลเงิน (Currency) ที่ใช้ในการซื้อขายเป็นหลัก กล่าวคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น “ราคาน้ำมัน” และ “ราคาทอง” จึงมีความสัมพันธ์กับ เงินดอลลาร์ และอยู่บนแน้วโน้มเดียวกันในระยะยาว ทั้งราคาทอง และ ราคาน้ำมัน ต่างก็มีแนวโน้มของ กราฟราคา ที่สวนทางกับ มูลค่าของเงินดออลาร์สหรัฐฯ
โดยหาก เงินดอลลาร์อ่อน หรือ มีมูลค่าลดลง เมื่อเทียบกัน สกุลเงินอื่นๆ ทั้งทองคำและน้ำมัน จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากความต้องการซื้อในสินค้าทั้งสองตัวนี้ที่เพิ่มขึ้น จากกำลังซื้อ (Purchasing Power) ที่เพิ่มขึ้นจากเงินสกุลอื่นๆนั่นเอง แม้ในระยะสั้น ทั้งสองอาจจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้การปรับตัวไม่เท่ากันบ้างก็ตาม เช่น ราคาน้ำมัน อาจจะปรับเปลี่ยนเพิ่มสูงกว่า เนื่องจากเหตุการณ์ความตึงเครียดให้ประเทศต่างๆ หรือ การปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเข้ามาด้วย
และอีกเหตุหนึ่ง การที่ “ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น” ยังเป็นพื้นฐานทำให้ระดับ “เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น” ด้วย เมื่อเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาทอง ก็จะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งเช่นกัน
7.ความเสี่ยงและความไม่มั่นใจ (Maket Risk and Uncertainty)
ตัวอย่างเช่น ข่าว หรือ ความกังวลด้าน “สงครามการค้า” (Trade War) ระหว่างสหรัฐอเมริกา และ จีน ที่ยังไม่มีความแน่นอน ทำให้นักลงทุนมองว่า .. การลงทุน ในสินทรัพย์ที่ได้รับผลโดยตรง จากการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ระหว่างกันของสองประเทศนี้ นั้นเสี่ยงเกินไป จึงหันไปลงทุนในประเทศอื่นๆ แทน หรือ หันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่สภาพคล่องสูง และ ความปลอดภัยสูงแทน อย่างเช่น ทองคำ เพื่อรอให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ในหัวข้อนี้ก็ ถือเป็น ความเสี่ยงและความไม่มั่นใจนั่นเอง
หรือแม้แต่ อาจะเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อ ปริมาณทองคำ ในตลาดโดยตรง เช่น เหตุการณ์ที่ผ่านมา มีบางประเทศ เทขายทอง ออกมาสู่ตลาดโลก เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้กับประเทศอื่น ทำให้ปริมาณทองคำให้ตลาดปรับตัวลงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อ ราคาโดยรวมของทอง ในช่วงนั้น ที่ปรับตัวลดลงโดยปริยาย ถือเป็น ความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้
8.การเทรดอนุพันธ์ทอง (Gold Future Tradings)
ผู้อ่านหลายคนอาจจะสงสัยว่า .. เอ๊ การเทรดอนุพันธ์ทอง เกี่ยวข้องอย่างไร กับ การเปลี่ยนแปลงราคาทอง ใน ตลาดทองคำ อธิบายง่ายๆ การเทรดอนุพันธ์ หรือ การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Forwards) ไม่ว่า Long-Short หรือ Call-Put ล้วนเกี่ยวข้องและส่งผลโดยตรงกับ ปริมาณของทองในตลาด ถึงแม้ อนุพันธ์ จะเป็น สินทรัพย์อ้างอิง (Derivative Asssets) ที่อ้างอิงมาจาก ราคาสินทรัพย์หลัก เช่น ราคาทอง (Gold Prices) ดัชนีทอง (Gold Index)
แต่สิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้ง ปริมาณทองคำ และ ราคาทอง ในตลาดโลกด้วยเช่นกัน เพราะ ต้องมีการซื้อและขายทองจริงๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อปิดความเสี่ยงจาก การเทรด ในกรณีที่สวนทาง
แล้วราคาทองคำในประเทศไทยเป็นอย่างไร?
สำหรับประเทศไทย .. ที่ต้องอาศัยการนำเข้า “แท่งทองคำ” จากต่างประเทศ ก่อนจะนำเข้ามาแปรรูปเป็น ทองคำแท่ง และ ทองรูปพรรณ ดังนั้น การคำนวณราคาขายประจำวัน จึงต้องคำนวณจาก ต้นทุน ที่คิดมาจากราคาที่ซื้อด้วย สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) รวมกับ ค่าดำเนินการต่างๆทั้งหมด ก่อนที่จะประกาศ ราคาขายประจำวัน ซึ่งจะเป็น “ราคากลาง” ภายในประเทศ ในหน่วย บาทไทย (THB)
โดยการกำหนดราคาปรับขึ้น หรือ ปรับลง นี้จะอยู่ภายใต้มาตรฐานและการควบคุมดูแลของ สมาคมผู้ค้าทองคำแห่งประเทศไทย เพื่อให้ราคากลางนี้ เป็น ราคายุติธรรม (Fair Value Price) มีความน่าเชื่อถือ และไม่ผันผวนตามค่าเงินสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา
โดยสรุป : ทอง เป็นสินทรัพย์ ที่ปลอดภัยที่สุด อีกทั้งมีสภาพคล่องที่สูง ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างทันที โดยปกติ นักลงทุน ที่บริหารความเสี่ยงในการลงทุน มักมีการถือทอง หรือ ดัชนีทอง เอาไว้ เพื่อรักษาความเสี่ยงและผลตอบแทนของ พอร์ตการลงทุน ด้วยเช่นกัน
หรือ เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ ที่ส่งผลต่อ อัตราผลตอบแทน หรือ ความเสี่ยงในสินทรัพย์อื่นๆ จะทำให้นักลงทุน หันมาถือทองเพื่อรักษาผลตอบแทนของตน หรือ เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนเป็นการชั่วคราว เพราะ ทอง เป็นที่ยอมรับของนักลงทุนในระดับสากล จึงไม่แปลกที่เมื่อมีข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆของโลกที่ไม่แน่นอน ย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ส่งผลต่ออันหนึ่งสู่อีกอันหนึ่ง จนทำให้ ทอง เป็นทางเลือกส่วนใหญ่ของนักลงทุน จึงทำให้ ราคาทอง มีการปรับตัวนั่นเอง
หมายเหตุ : บทความนี้ เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวมุมมองหนึ่งในการวิเคราะห์เท่านั้น และยังเป็นเพียงมิติเดียว ณ ปัจจัยอื่นๆ คงที่เท่านั้น ในความเป็นจริงทุกๆอย่างจะเกิดขึ้นพร้อมๆกัน
หากต้องการนำไปอ้างอิงประกอบการศึกษา สามารถทำได้ โดยผู้อ่านสามารถค้นหาบทความอื่นๆจากหลายๆแหล่งที่มาเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน รวมถึงการศึกษาไม่มากก็น้อย
อ่านเพิ่มเติม:
–รีวิว ผลตอบแทน จากการลงทุน ด้วยกลยุทธ์ จัดพอร์ตการลงทุน H1/2020
อ้างอิง:
–World Gold Council
–gold.org
–YouTube: Jampay Thailand