วางแผนการเงิน ส่วนบุคคล (Personal Financial Planning) มนุษย์เงินเดือน เริ่ม การวางแผนการเงินในอนาคต เพื่อ บริหารเงิน รวมถึง การวางแผนการลงทุน และ ความมั่งคั่ง ส่วนบุคคล (Wealth management) การบริหารจัดการทางการเงิน (Financial Management) การวางแผนเก็บเงิน วางแผนการเงิน (Financial Planing) วิธีวางแผนการเงิน สำหรับ มนุษย์เงินเดือน วัยทำงาน เด็กจบใหม่ (First Jobbers) เงินเดือน 15,000 และอยากเริ่มต้น เก็บเงิน ออมเงิน และ ลงทุนหุ้น dfin

วางแผนการเงิน สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างไร? 

“มนุษย์เงินเดือน” (Salaryman) คำจำกัดความที่กว้างมากๆ หากจะพูดให้เข้าใจง่าย คือ ผู้ที่ทำงานแล้ว วัยทำงาน มี “รายได้ประจำ” (Regular Incomes) เป็น “รายเดือน” ในทุกๆเดือน ถือว่าเป็น มนุษย์เงินเดือน หรือ “ผู้ที่มีรายได้ประจำ” (Rentiers) อาทิ “ข้าราชการ” (Officialdom) และ “พนักงานบริษัทเอกชน” (Employees) เป็นต้น

ซึ่งจะแตกต่างกับผู้ที่ทำงานที่ได้รับ “ค่าจ้าง” (Wage) เป็น รายชั่วโมง (Hourly Wage) รายวัน รายสัปดาห์ หรือ ราย 15 วัน หรือแม้กระทั้ง รายผลงาน (Jobs) อย่างที่รู้จักกันในทุกวันนี้ คือ “ฟรีแลนซ์” (Freelancers) ที่บางคนมองว่า รายได้ไม่แน่นอน หรือ ไม่ได้มีหลักประกันรายได้อะไร กล่าวคือ ต้องทำงานถึงจะมีรายได้ หากไม่ทำก็ไม่มีรายได้ ซึ่งในมุมมองของบุคคลทั่วไป หรือแม้แต่ สถาบันการเงินต่างๆ ให้ความเชื่อถือ (หรือ ให้เครดิต) กับมนุษย์เงินเดือนมากกว่าผู้ที่ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน หรือ ผู้ที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ

ซึ่งหลายคนคงจะเคยได้ยินว่า “เงินเดือนเท่าไหร่ก็ไม่พอ” นั่นแสดงว่า อาจจะไม่ได้เกี่ยวเงินเดือนซะทั้งหมด หรือ จำนวนเงินเดือนที่เท่าเดิม หรือ เงินเดือนที่ควรเพิ่มมากขึ้น แต่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินเดือน ภาระค่าใช้จ่าย หน้าที่ ความจำเป็น ภูมิหลัง และ ความต้องการในการใช้ชีวิตของแต่ละคนมากกว่า

มนุษย์เงินเดือน ลงทุนอะไรดีนะ? .. เอาหล่ะ เราลองมาเริ่ม “วางแผนการเงิน” (Financial Planning) ในการใช้เงินและใช้ชีวิตกันดูบ้าง ว่ามันจะสามารถนำไปใช้กับชีวิตของเราได้ขนาดไหน โดยหลักๆ ผู้เขียนจะพูดถึงการวางแผนออมเงิน การวางแผนค่าใช้จ่าย การวางแผนในการลงทุน การวางแผนภาษี เป็นหลัก



1. วางแผนออมเงิน (Saving Planning)

หลายๆคน อาจจะบอกว่า “แค่รายจ่ายก็ไม่เหลือแล้ว จะออมเงินได้อย่างไร” หากเป็นเช่นนั้นให้ข้ามไปข้อ “วางแผนค่าใช้จ่าย” ก่อน แต่ในการวางแผนในการเงินนั้น หากจะให้ผู้เขียนแนะนำ .. ผู้เขียนจะแนะนำให้ผู้อ่านทำการออมเงินก่อนทำทุกอย่างเลย กล่าวคือ เมื่อเงินเดือนออก หรือมี “รายได้” (Incomes) เข้ามา ให้โอนเข้า “บัญชีฝากประจำ” (Fixed Deposit Accounts)

สำหรับผู้เริ่มต้นการวางแผนฯ ซึ่งสัดส่วน หัวข้อนี้ สามารถบริหารจัดการได้ตามอัธยาศัย ขึ้นอยู่กับกำลังของแต่ละคนเลย อาจจะเดือนละ 1,000 2,000 หรือ 5,000 เช่น ฐานเงินเดือน (Salary Rate) และ เงินเดือน 15,000 บาท ถูกหัก ประกันสังคม 750 บาท เหลือ เงินสดรับ 14,250 บาทต่อเดือน เป็นเด็กจบใหม่ วัยทำงาน อยากเริ่มออมเงิน

เริ่มต้นด้วย การลองเริ่มหักเงินออมทันที 10% (ตามความเหมาะสม) ของรายได้รายเดือน ที่เดือนละ 1,425 บาท ในส่วนนี้ ภายใน 12 เดือน ผู้อ่านจะมีเงินเก็บราวๆ 17,100 บาท ซึ่งยังไม่รวม “ดอกเบี้ยเงินฝาก” (Deposit Interests Rates)  “ดอกเบี้ยรับ” (Accrued Interests) ที่ผู้อ่านจะได้รับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเลือก “เปิดบัญชีฝากประจำ” ของแต่ละท่าน โดยบัญชีฝากประจำสำหรับผู้ที่เริ่มต้นออมเงิน ถือเป็นการลงทุนในการประเภของการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งผลตอบแทนก็จะน้อยไปด้วยนั่นเอง รวมถึงอีกข้อที่สำคัญ คือ “การบริหารสภาพคล่องทางการเงิน” (Liquidity Management) มันขึ้นอยู่กับ การวางแผนการเงิน ของคุณเองด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ “การออมเงิน” ควรมีเป้าหมายในการออม เพื่อโอกาสที่จะสำเร็จมากขึ้น อาทิ การออมไว้เผื่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน หรือ ไม่คาดฝัน (Unexpected Expenses) หรือ เก็บเงินแสนแรก เก็บเงินล้าน เก็บเงินให้ตัวเองรวย เป็นต้น อยู่ที่เป้าหมายของแต่ละคน

อ่านเพื่มเติม :
เก็บเงินแสนแรก 100,000 ++ (HOW TO)


2. วางแผนด้านค่าใช้จ่าย (Expenses Planning)

หากท่านผู้อ่าน .. เป็นคนที่มีรายได้เดือนชนเดือน เงินเข้า แต่อยู่กับเราเป็นรายนาที เพราะ ต้องจ่ายค่านั้นค่านี่ “หนี้” (Debt) แต่ “รายได้รวม” (Total Incomes) ของคุณไม่ได้เพิ่มขึ้น คุณควรเริ่มวางแผนด้าน “ค่าใช้จ่าย” ได้แล้ว หากคุณไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้ตัวเองได้ ให้คุณลองมาเริ่มสังเกตตนเองว่า คุณมี “สัดส่วนรายได้ต่อรายจ่าย” (Income-Expense Ratio, I/E Ratio) เป็นอย่างไร ในส่วนไหนที่เยอะที่สุด แล้วมันจำเป็นหรือไม่ สมควรแก่การจ่ายหรือไม่

สมมติ ในกรณี เป็นเด็กจบใหม่ หรือ ทำงานแรก (First Jobbers) ทำงานที่กรุงเทพมหานคร เงินสดรับ (Cash Inflows) 25,250 มีรายการค่าใช้จ่าย ดังนี้ ค่าที่พัก 5,000-10,000 ค่าผ่อนรถยนต์ 5,000 ค่าโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต 500 ค่าน้ำค่าไฟ 2,000 ค่าเดินทาง 3,000 บาท เป็นต้น

จะเริ่มเห็นว่า อ่าวเห้ย! ใจเย็นๆ! ทำไมเหมือนเงินมันจะไม่พอที่จะใช้จ่าย อันนี้ผู้เขียนไม่สามารถบอกให้ใครลดส่วนไหนลงได้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ภาระ หน้าที่ ภูมิหลัง ของบุคคลนั้นๆ เช่น ต้องขับรถไปทำงาน รายจ่ายส่วนนี้ถือเป็น “รายจ่ายจำเป็น” ของบุคคลนั้น ก็ลองมองว่าเป็น “การใช้จ่ายเพื่อการลงทุน” ในการซื้อรถเพื่อไปทำงาน เป็น “การลงทุนเพื่อสร้างรายได้” ประเภทหนึ่ง

ทั้งนี้ ให้ลองมุมทางเลือกให้ตัวเอง กรณีเป็น “เด็กจบใหม่” หรือ “พนักงานใหม่” (First Jobbers) ด้วยการคิดถึงการใช้รถมือสองก่อน เพราะ จะทำให้เราลดภาะค่าใช้จ่ายในการผ่อนรถยนต์เป็นรายเดือนลง พอทำงานเก็บเงินไปสัก 5-7 ปี ถึงวันนั้น พอเรามีเงินเก็บพอสมควร เราค่อยซื้อ หรือ “ดาวน์” แบบ 25% รถมือหนึ่งมาใช้ เพื่อลดภาระ “ดอกเบี้ย” และ เพราะโดยปกติ “รถยนต์” มีอายุเฉลี่ยการใช้งาน 7-10 ปี และ มูลค่าของมันจะลดลงเรื่อยๆ รวมถึง มี “ค่าบำรุงรักษา”และ “ค่าประกันต่างๆ” (Maintenance and Insurance Expenses) ที่ต้องจ่ายตลอดเวลาในการใช้งาน เพราะ หากรายได้ไม่สามารถ ครอบคลุม (Covered) รายจ่ายในส่วนต่างๆได้ ย่อมเป็นภาระทางการเงิน อาจทำให้เกิดหนี้สินเกินตัวได้เช่นกัน

และหากมองระยะยาวแล้ว อย่างไรแล้ว เราก็ต้องมีการซื้อรถยนต์ มาใช้เป็น “คันที่สอง”แน่นอน รถคันแรกของเราก็ลองใช้เป็นรถมือสองก่อนก็ได้ เพื่อแบ่งเบาภาระตัวเอง อีกทั้งป้องกันตัวเองที่ไม่ให้ตกอยู่ในสภาพที่ต้องเผชิญดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ ที่อาจเป็น “รายจ่ายที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า” (Unexpected Expenses) ในการผ่อนรถมือหนึ่ง ที่หากให้ผู้เขียนแนะนำ ผู้เขียนอยากแนะนำว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆอย่าพึ่งซื้อ “รถใหม่ป้ายแดง”


แล้วในกรณีที่พักหล่ะ? .. ในกรณี ที่พัก ที่อยู่อาศัย (Residences) เป็น “รายจ่ายจำเป็น” (Expected Expenses) อย่างมาก และเป็น “รายจ่ายประจำรายเดือน”(Fixed Monthly Expenses) ที่ต้องจ่าย เพราะ เราต้องมีที่นอน กับเตียงที่แสนนุ่มในวันที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน แต่ทุกวันนี้ เรากำลังจ่ายเงิน “ค่าเช่า” (Rents) ที่พักไปฟรี ๆ หรือเปล่า และ เราก็ไม่ได้อะไรกลับมา

หลาย ๆ ครั้ง ความคิดเรื่องการผ่อน “คอนโดมิเนียม” (Condominium) ก็เป็นแนวความคิดที่เข้าท่า เพราะ เราจะได้เป็น “เจ้าของ” (Holder) ไปด้วยในตัว แต่หลาย ๆ คนไม่กล้าที่จะผ่อนคอนโด เพราะกลัวเรื่องความไม่แน่นอนในการทำงาน การย้ายสถานที่ทำงาน

ทั้งหมดนี้ก็มองได้หลาย ๆ มุมว่า หากเราผ่อนไปได้สักระยะ เราต้องย้ายงานไปทำงานยังสถานที่อื่น เราก็สามารถนำห้อง คอนโดฯ มาปล่อยเช่า ให้คนอื่นเช่าได้ แล้วเราก็ไปหาซื้อ หรือ เช่า คอนโด ที่พัก ห้องพักแหล่งใหม่ แต่ชีวิตมันก็ไม่ได้ง่าย แต่มันไม่ได้ยากเกินไป ลองนำแนวคิดนี้ไว้ประกอบการพิจารณา และ วางแผนในการบริหารค่าใช้จ่าย ได้ส่วนหนึ่ง

จากนั้น ลองมองว่า รายจ่ายตรงไหนลดลงได้บ้าง เช่น “โปรโมชั่น” (Promotions) หรือ “ค่าใช้จ่ายรายเดือน” (Monthly Expenses) อาทิ “ค่าโทรศัพท์” จากที่เคยจ่ายรายเดือน เดือนละ 999 บาท ก็ลองลดลงมาใช้เป็นเดือนละ 499 บาท ซึ่งหลายๆคนอาจจะบอกว่า จำเป็นต้องใช้คุยงานกับเจ้านายและลูกค้า ต้องใช้อินเตอร์เน็ตและการโทรศัพท์ ในส่วนนี้ก็อาจจะจำเป็นสำหรับเขา ก็อาจจะมองว่าเป็น “รายจ่ายเพื่อสร้างรายได้”

หรือ ค่าใช้จ่ายประเภทต่ออายุสมาชิก (Subscription Expenses) เช่น บริการดูภาพยนตร์รายเดือน บริการฟังเพลง เป็นต้น ก็ให้ลองสำรวจตัวเองดูจากค่าใช้จ่ายต่างๆว่า เราจ่ายไปคุ้มค่ากับการใช้งานหรือไม่ หากไม่ก็ลองปรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงดู

ทีนี้จากตัวอย่าง “ค่ากิน” เหลืออยู่ประมาณ 3,000 – 4,750 บาทต่อเดือน ตกวันละ 100 บาทถ้วน หรือ

ในกรณีที่คิดไปคิดมา แล้วเริ่มตระหนักได้ว่า “นี่ก็แทบจะกินเกลือกันอยู่แล้ว แล้วจะมีเงินเหลือไปออมได้อย่างไรกัน?” หากลองทำดังตัวอย่างด้านบน ลองปรับมุมมอง ลองลดบางสิ่งลง เอาเท่าที่จำเป็น อาจจะมีเงินเหลือเก็บเพิ่มขึ้น ให้ทดลองดูก่อน

สิ่งสำคัญ คือ “การลงมือทำ” ลองเริ่มต้นทำบางสิ่ง ถ้าทำไม่ได้ ก็ถือซะว่าเราได้ลองทำมันแล้ว ที่สำคัญให้มองให้ออกว่า รายจ่ายอันไหนเป็น “รายจ่ายจำเป็น” รายจ่ายอันไหน เป็น “รายจ่ายแล้วสร้างรายได้” รายจ่ายส่วนไหนลดลงได้ และ ไม่ควรสร้าง “หนี้ที่ไม่จำเป็น” (Bad Debt) หรือ “ใช้เงินเกินตัว” (Wasteful Spending)

ในกรณีนี้ หากผู้อ่านมีเงินเหลือ จึงเริ่มวางแผนการออมและ การลงทุนต่อไป ..


3. วางแผนการลงทุน (Investment Planning)

“การลงทุน” (Investing) มีหลายประเภท การออมเงินด้วย “บัญชีฝากประจำ” (Fixed Deposit Accounts) ก็ถือเป็นการเริ่มต้นในการลงทุนแล้ว หรือแม้กระทั่ งการเริ่มสนใจลงทุนใน กองทุน (Funds) ต่างๆ รวมไปถึงการลงทุนใน “หุ้น” (Stocks)

ซึ่งการลงทุน เป็นช่องทางหนึ่งใน “การเพิ่มรายรับและรายได้” (Increasing Incomes and Revenues) ของเรา ให้มีมากกว่า 1 ช่องทาง หากผู้อ่านมี “เงินเหลือเก็บ” (Savings Money) ส่วนหนึ่ง และ ยังไม่เข้าใจความหมายของการลงทุนในหุ้นมากพอ ผู้เขียนแนะนำให้อ่านและทำความเข้าใจจากบทความเรื่อง หุ้นคืออะไร?  และ “หุ้น เล่นยังไง?” หลังจากนี้

สมมติ .. เรามีเงินเก็บ 2,000 – 5,000 บาทต่อเดือน  อาจจะแบ่ง “พอร์ตการลงทุน” (Investment Portfolio)  เป็น หุ้น 60% กองทุนรวมต่างๆ (Mutual Funds) 20% เงินฝากประจำ 10% เงินสด (Cash) 10%

ทำไมต้องแบ่งการลงทุนเป็นส่วนต่างๆ? .. เพื่อ “กระจาย” และ ”บริหารความเสี่ยงจากการลงทุน” (Investment Risk Management)  นั่นเอง การทุ่มเม็ดเงินลงทุนในอะไรอย่างเดียวเต็มร้อย ย่อมไม่เกิดผลที่ดีและจะเสี่ยงกับผู้ลงทุนเกินไป โดยเฉพาะ “นักลงทุนมือใหม่” (Beginner Investors) และการลงทุนบางอย่างมี “สภาพคล่องต่ำ” (Low-Liquidity) กล่าวคือ ความรวดเร็วในการ “เปลี่ยน” (Be Converted) เป็นเงินสดต่ำ เช่น

ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ แล้วไม่สามารถนำเงินออกมาใช้ได้ จริงจำเป็นต้องแบ่งสัดส่วนที่เป็น “เงินสด” หรือ การลงทุนที่มีสภาพคล่องสูงไว้บ้าง เผื่อในกรณีฉุกเฉิน (Emergency) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรู้ใน “การบริหารจัดการพอร์ตการลงทุน” (Investment Portfolio Management) และ “ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง” (Investment Risk Acceptance) ของแต่ละบุคคล

และหากให้ผู้เขียนแนะนำ .. ผู้เขียนอยากให้ ผู้อ่านแยกระหว่างตัวเงินที่เป็นรายจ่าย และ ตัวเงินที่เป็นเงินลงทุนออกจากกันอย่างสิ้นเชิง อย่านำเงินที่ลงทุนมาใช้ในส่วนค่าใช้จ่าย เพราะจะทำให้ผู้อ่านไขว้เขวและยากต่อ “การรักษาวินัยทางการเงิน” (Financial Disclipline) ในการออมเงินและลงทุนนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :
เลือกหุ้น ให้เหมือนเลือกคู่ชีวิต (สำหรับนักลงทุนแบบ VI)
ประกันสังคม ขาดทุน? เงินหาย? .. สํานักงานประกันสังคม ได้รับผลกระทบอะไร?
กองทุนประกันสังคม ซื้อหุ้นแพง จนขาดทุน จริงหรือไม่?
รีวิว ผลตอบแทน จากการลงทุน ด้วยกลยุทธ์ จัดพอร์ตการลงทุน H1/2020


4. วางแผนภาษี (Taxes Planning)

รู้หรือไม่? ว่าคนทุกคนในประเทศต้องเสีย “ภาษี” (Taxes) ไม่ว่าจะ “ภาษีทางตรง” (Direct Taxes) หรือ “ภาษีทางอ้อม” (Indirect Taxes) และต้องเผชิญภาษีด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้ (Income Tax) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Tax) ภาษีสรรพสามิต (Excise Tax) เป็นต้น มักไม่มีการสอนกันสักเท่าไหร่ ว่าเราควรเตรียมความพร้อมอย่างไร เราจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเรียนรู้เอาไว้

เพราะ เราสามารถลดหย่อนภาษีได้ และช่วยทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายด้านภาษีได้ตามที่กฏหมายให้สิทธิเรา แต่ก่อนที่จะลดหย่อนได้ เราต้องรู้จัก “การประเมินเงินได้”  ของเราเสียก่อน รวมไปถึง หากเราสามารถ “วางแผนการเงิน” การออมและการลงทุนได้เป็นอย่างดี เราสามารถใช้สิทธิตรงนี้ เพื่อขอลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย (ในบทความนี้ จะขอยังไม่พูดถึงภาษีมากนัก แต่จะขอพูดถึงในบทความถัดไป)

“ภาษีสังคม” คือ ค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เรียกเก็บจากรัฐบาล แต่เกิดขึ้นกับรายบุคคล และอยู่ในข้อ “รายจ่าย” เช่น  ค่าใช้จ่ายในการเข้าสังคม งานรื่นเริง สังสรรค์ต่างๆ บางคนมีภาษี หรือ ค่าใช้จ่ายตัวนี้มากกว่าคนอื่น เพราะจำเป็นในสายงาน หรือในหน้าที่การงาน หรือ สังคมที่มีส่วนร่วมอยู่ แต่หากผู้อ่านท่านใดที่สามารถจัดการในส่วนนี้ได้ ท่านก็จะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้น แต่ผู้เขียนไม่ได้บอกว่า ให้งดการออกไปพบผู้คนเลยเสียทีเดียว เพราะให้ถือเป็นการออกไปสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆไว้บ้าง เป็นสิ่งที่ดี

 


แถม! วางแผนหาคู่ชีวิต

ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจ บีบบังคับให้คนจำเป็นต้องอยู่คนเดียวมากขึ้น การมองเรื่องการมีครอบครัวของผู้คนกลายเป็นเรื่องที่อยู่ในความสำคัญลำดับท้ายๆ เนื่องจาก ความจำเป็นในการเร่งเอาตัวรอด สร้างเนื้อสร้างตัว สร้างความมั่นคั่ง (Wealth) ให้กับตัวเอง ถ้าตัวเองยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ไม่มีใครอยากพาใครมาลำบาก ไม่มีใครอยากพาใครมาเป็นภาระ

ผู้เขียนอยากให้ลองมองมุมการแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ในชีวิตร่วมกัน มันมีพลังในการใช้ชีวิตนะ อย่างน้อย ๆ เราก็ได้รู้ว่า เราไม่ได้ต่อสู้อยู่บนโลกใบนี้อย่างลำพังและโดดเดี่ยว ยังมีอีกคนที่คอยให้กำลังใจอยู่ข้าง ๆ กัน สร้างอนาคตร่วมกัน

“อยากมีแฟนแบบไหน .. ให้ไปในที่ที่เขาอยู่”

อ่านเพิ่มเติม : การตลาด “เจาะกลุ่มคนเหงา” .. โอกาสทางธุรกิจที่น่าจับตา

โดยสรุป ในมุมมองผู้เขียน การมีรายประจำที่แหละสำคัญ เพราะจะเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้เราสามารถวางแผนการเงิน ของเราได้อย่างแม่นยำและง่ายดายมากที่สุด รวมถึงนำไปลงทุนต่อยอดเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองได้ ทำให้มีรายได้รายรับเข้ามามากกว่า 1 ช่องทาง การเป็นอิสรภาพทางการเงิน ไม่ใช่เพียงแค่มองในมุมที่มีความต้องการรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพียงปัจจัยเดียว แต่การใส่ใจในปัจจัยอื่นๆด้วย จะทำให้เราเป็นอิสรภาพทางการเงินได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น รวมถึงทำให้เราทำมันอย่างสบายๆ ไม่กดดันตัวเองมากเกินไป

ผู้เขียนให้กำลังใจวัยรุ่น หรือเด็กจบใหม่เสมอ ๆ ว่า พวกคุณยังอายุ 22-24 ปี พวกคุณไม่ต้องกดดันตัวเองขนาดนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าเรื่อยเปื่อย ใช้ชีวิตไม่มีเป้าหมาย แต่ให้ค่อย ๆ วางแผนชีวิต ค่อยๆตั้งเป้าหมายเล็กๆ แล้วทำให้สำเร็จทีละอย่างๆ แล้วลองเพิ่มเพดานความท้าทายลงไปเรื่อยๆ เช่น ลองเริ่มเก็บเงินให้ได้ 100,000 ภายใน 3-5 ปี แล้วอย่าเอาชีวิตไปเปรียบเทียบกับคนอื่นมากเกินไป คนเราโอกาสและต้นทุนในชีวิตไม่เท่ากัน ดอกไม้มันก็มีเวลาเบ่งบานของมัน คุณเองก็มีเวลาที่คุณจะประสบความสำเร็จได้เช่นกัน.

อ้างอิง :
เงินทองต้องวางแผน

ผู้สนับสนุนบทความนี้

Sponsorships, Jampay, Jampay Thailand, แจมเพย์, แจ่มใส, jamsai, jamplay