เลือกหุ้น ให้เหมือนเลือกคู่ชีวิต (สำหรับนักลงทุนแบบ VI) เลือกหุ้น ในตลาดหุ้นที่มีหุ้นมากมาย ย่อมเกิดคำถามว่า .. เลือกหุ้นตัวไหนดี ? หุ้นตัวไหน คือ หุ้นพื้นฐานดี และเขามีวิธีการเลือกหุ้นกันอย่างไร?

เลือกหุ้น ให้เหมือนเลือกคู่ชีวิต (สำหรับนักลงทุนแบบ VI)

การลงทุนแบบ VI คืออะไร? .. การลงทุนแบบ VI หรือ Value Investor คือ การลงทุนโดยเน้นไปที่คุณค่าของสินทรัพย์ที่ลงทุนไป ซึ่งวิธีการของนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป

บางคนก็จะเลือกดูที่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท บางคนก็จะคำนวณมูลค่าของบริษัทว่าต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ หรือ บางคนก็ดูโอกาสในการเติบโตของทิศทางกำไรของบริษัทเพื่อประโยชน์ในด้านเงินปันผลที่นักลงทุนจะได้รับกลับคืนมา

แต่สิ่งที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าเห็นตรงกัน เหมือนกันเลย คือ ระยะเวลาในการลงทุนในหลักทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งนั้น ขึ้นอยู่กับ ระยะเวลา

ยิ่งลงทุนด้วยระยะเวลายาวนานเท่าใด ยิ่งมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้น  ในที่นี้ ผู้เขียนอยากอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นภาพได้โดยง่ายด้วยการยกตัวอย่าง การเลือกลงทุนในหุ้นสักตัวในระยะยาว สามารถใช้เครื่องมือใดได้บ้าง .. และการ เลือกหุ้น ในตลาดหุ้นที่มีหุ้นมากมาย ย่อมเกิดคำถามว่า .. เลือกหุ้นตัวไหนดี ? หุ้นตัวไหน คือ หุ้นพื้นฐานดี และเขามีวิธีการเลือกหุ้นกันอย่างไร? ไปเริ่มศึกษาไปพร้อมๆกันเลย



5.) มองเห็นคุณค่าในตัวเขา แม้ใครจะไม่เห็นก็ตาม ..

เปรียบเทียบกับ หุ้น หุ้นตัวนี้อาจจะไม่ได้หวือหวาใน ตลาดหุ้น ไม่ได้มีใครเชียร์ อยู่นอกสายตา แต่คุณกลับมองเห็นคนๆนี้ต่างออกไป  ผู้หญิงคนนี้ทำไมช่างมีเสน่ห์อย่างนี้นะ มีรอยยิ้มตลอดเวลาเลย ไม่อายที่จะคุยเฮอากับเรา  เวลากินก็กินได้ดูอร่อยมากๆไม่ห่วงสวยเลย อาจเรียกได้ว่าเป็น “คุณค่าในด้านความสุข เมื่ออยู่ด้วยกัน”

ซึ่งคุณชอบและคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกสบายใจ มันก็เป็น “คุณค่าด้านความสบายใจ” หรือแม้กระทั่ง ความรู้สึกปลอดภัย เช่น ทำไมผู้ชายคนนี้ดูอบอุ่นจัง อยู่ด้วยแล้วรู้สึกปลอดภัยอย่างบอกไม่ถูก ในขณะที่อีกคนอาจจะมองว่า ผู้ชายคนนี้ทำไมดูน่ากลัวจัง และกลัวที่จะเข้าใกล้

ซึ่งการวัดคุณค่าในมุมมองของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป คุณอาจจะวัดคุณค่าคนจากรูปร่างหน้าตา ความน่าเชื่อถือ ฐานะทางการเงิน ประวัติชีวิตที่ผ่านมา ความสำเร็จ ยกตัวอย่าง คุณเห็นผู้ชายคนหนึ่ง ที่ที่บ้านไม่ได้มีพร้อม พ่อแม่ไม่ได้มีเงินมากมาย แต่ถ้าเขาเป็นคนขยัน อดทน หมั่นเพียร

แต่วันหนึ่งเขากลับก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นไปได้และเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ถ้าคุณให้โอกาสคนที่คุณคบและใช้ชีวิตมาด้วยกันตั้งแต่วันที่ไม่มีอะไร วันที่เขาประสบความสำเร็จ คุณก็ได้เห็นแล้วว่า “คุณค่าในความเชื่อมั่นในตัวเขา” ที่คุณมอบให้มันไม่เสียเปล่า หรือบางทีเขาอาจจะเอาตรงนี้เป็นแรงผลักดันตัวเองจนประสบความสำเร็จ ดังที่มีคำกล่าวที่เราเคยได้ยินว่า “ผู้ชายที่ประสบความสำเร็จมักจะมีผู้หญิงที่สนับสนุนเขาอยู่” นั่น เพราะคุณเชื่อมั่นในคุณค่าในตัวเขาที่คุณมองเห็น

หากเปรียบเทียบกับธุรกิจก็คือ “โอกาสทางธุรกิจ” นั่นเอง คุณให้โอกาสเขาและคาดว่าเขาจะสามารถหาหนทางในการดำเนินธุรกิจเมื่อมีโอกาส หรือหากคุณคาดเดาด้วยตนเองได้ไม่ดีพอ ให้ลองศึกษา “รายงานประจำปี” ของเขา เพื่อเริ่มศึกษา “หุ้นพื้นฐานดี”


4.) อยากเป็นส่วนหนึ่งของภาพในอนาคตของเขา

มันเหมือนกับ “รายงานประจำปี” ของบริษัทฯ มันก็คือ สิ่งที่เขาทำตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา เขาเจออะไรมาบ้าง แล้วเขาทำอย่างไร รวมไปถึงแผนที่เขาวางอนาคตไว้ ว่าเขาอยากจะทำอะไรเมื่อไหร่ และอะไรสำคัญกับเขาในตอนนี้และในต่อๆไป

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน ก็เหมือนสิ่งที่ให้เราอ่านก่อนตัดสินใจคบกับคนๆหนึ่ง หรือตัดสินใจ เลือกหุ้น ..

– ปีนี้เขามีสินทรัพย์ในชื่อตัวเอง xxx,xxx บาทแล้วนะ และวางแผนไว้ว่าในอีก 5 ปี เขาจะมีสินทรัพย์ทั้งหมด 1,000,000 บาท

– เขาวางแผนแต่งงานและสร้างครอบครัวไว้ตอนอายุ 27-30 ปี เพราะอยากให้ตัวเองมั่นคง พอที่จะเลี้ยงภรรยาและลูกได้อย่างมีคุณภาพ ได้เรียนโรงเรียนดีๆ ได้เติบโตมาในที่ๆดี

– เขาอยากมีลูก 2 คน ให้เป็นพี่น้องไว้คอยดูแลกัน

– เขาวางแผนไว้ว่าจะเปิดบริษัทของตัวเอง และอยากกลับมาอยู่ที่บ้านเกิด

– ข้อดี คือ เขาเป็นคนขยัน อดออม และรู้จักวางแผนชีวิต ข้อเสีย คือ เขาอาจจะทำงานจนไม่ค่อยมีเวลา เขาอาจจะไม่ค่อยแสดงออกเรื่องความรักเท่าไหร่

ฯลฯ

ถ้าคุณเป็นผู้ที่อ่านรายงานประจำปีเล่มนี้แล้วคุณสนใจในตัวคนๆนี้ หรือแม้กระทั่งแผนที่เขาวางไว้ มันสอดคล้อง คล้ายๆกับแผนในชีวิตของคุณเอง คุณอาจจะอยากอยู่ร่วมอนาคตกับเขา เพราะคุณก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในแผนอนาคตของเรา และคุณคิดว่าคุณอยู่ร่วมกับเขาได้



3.) มองเห็นความมั่นคง ความจริงใจในตัวเขา

3.1 “ความมั่นคงอาจจะเป็นเรื่องความมุ่งมั่นของเขาที่มี่ต่อการใช้ชีวิต หรือ หากจะดูที่ความมั่นคงฐานะการเงินของเขา ก็ต้องดูหน้าที่การงานของเขาทำ ก็ต้องรู้ว่าเขารวยจริงๆไหม หรือ หนี้สินที่เขามีเป็นหนี้สินที่เปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ได้ไหม หรือเป็นหนี้สินที่สูญเปล่า เขาจะมีเงินอยู่ร่วมกับเราในชีวิตประจำวันได้หรือไม่ รอบเดบิตรายรับของเขาเป็น 30 วัน (เดือน) แต่รอบเครดิตรายจ่ายของเขาทุก 5 วัน อย่างนี้ เขาจะมีเงินสดในมือเพียงพอจริงไหม สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราได้คำตอบที่ตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น

.. เรื่อง ฐานะทางการเงินก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในชีวิตคู่นะ ถึงใครจะบอกว่าไม่สำคัญ แต่ลึกๆมันก็มีส่วนอยู่ดี เช่น ฝ่ายหญิงอยากทานบุฟเฟต์ 999.- แต่ฝ่ายชายมองเงินในกระเป๋าแล้วพอไหวที่ 599.- ถึงฝ่ายหญิงจะบอกว่า ไม่เป็นไรที่เหลือเดี๋ยวเราออกเอง แต่ในระยะยาวฝ่ายชายย่อมรู้สึกว่าตัวเองไม่มั่นคงเอาซะเลย ไม่สามารถดูแลผู้หญิงคนนี้ได้อย่างสมศักดิ์ศรีและอาจจะยังไม่เหมาะกับผู้หญิงคนนี้ และต้องขอก้าวออกมาและขอเวลาพัฒนาตัวเองต่อไป

ดังนั้น การคบกับคนที่ฐานะใกล้เคียงกันจึงเป็นทางที่มีโอกาสไปกันรอดมากที่สุด เพราะต่างคนจะต่างเข้าใจกันมากกว่า “เราหารกันนะ กินแค่ 499.- ก็พอเนอะที่รัก”

3.2 “ความจริงใจ คือ เจตนาที่เขาต้องการจะทำ การรักษาคำพูดของเขา แล้วทำอะไรไปแล้วบ้าง มีอะไรบ้างที่เขาเห็นว่าควรจะต้องแก้ไข เขาแสดงออกอย่างไร เขาเลือกที่จะบอกคุณทั้งหมดไหม มีอะไรที่เขากำลังปิดบังคุณอยู่

เช่น เขาอาจจะมีปัญหาหนี้สินรุมเร้าอยู่ เขาอาจจะผิดสัญญาบ่อยๆ เขาอาจจะชอบปั่นหัวคุณเล่นด้วยความไม่แน่นอน  หรือบางครั้งเขาก็อาจจะบอกคุณว่าเขาจะเข้าซื้อบริษัทให้คุณ แต่ 3 วันผ่านไปเขาบอกว่า เขาไม่อยากซื้อมันแล้วนะ เขาขอโทษด้วย

เรื่องพวกนี้ก็จะสามารถหาดูได้จากเอกสาร “งบการเงิน”, “นโยบายธรรมภิบาล” ต่างๆของบริษัท


2.) คุณรู้ว่าเขาเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้และเข้มแข็ง

คุณอาจจะเคยได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับตัวเขามาในทางที่ไม่ดีเลย แต่คุณกลับมองเห็นคุณค่าในตัวเขาเหมือนหัวข้อข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว และคุณก็เห็นว่าเขาพิสูจน์ตัวเองมาตลอดเวลาเลย และเขาก็สามารถผ่านมันมาได้ในทุกๆครั้งจนมาถึงวันนี้ มันแสดงให้เห็นว่าเขาเข้มแข็งขนาดไหน

แล้วการไม่ยอมแพ้และความเข้มแข็งของเขาสามารถดูได้จากไหนบ้าง

2.1. นโยบายบริหารความเสี่ยง

คำว่าไม่ยอมแพ้ มักจะซ่อนอยู่ในนโยบายบริหารความเสี่ยง แต่ทำไมกันนะ? .. เพราะ เขาเริ่มตระหนักถึงปัญหา ข้อบกพร่อง หรือ ความเสี่ยง ที่อาจจะส่งผลกับตัวเขาในด้านลบ และนั่นอาจทำให้เขาเผชิญกับความพ่ายแพ้อย่างไม่น่าให้อภัย รวมถึงอาจทำให้เขาต้องสูญเสียสิ่งที่เขาสร้างมากับมือ ซึ่งแน่นอนเขาไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น เขาย่อมต้องเริ่มมองหาข้อบกพร่องของตัวเองมากยิ่งขึ้น เพื่อวางแนวทางในการป้องกันโอกาสที่จะทำให้เขาสูญเสียทุกอย่างไป ซึ่งในขณะที่เขาหาแนวทางป้องกันความพ่ายแพ้ เขาอาจจะไปพบเข้ากับโอกาสในการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจของเขาเองอีกด้วย นอกจากจะไม่ยอมแพ้แล้ว ในบางครั้งอาจทำให้เขาเข้มแข็งมากขึ้นอีกด้วย

2.2. ดูกราฟราคาหุ้นในระยะยาว

มีข่าวลือในทางที่ไม่ดีเกี่ยวกับเขามากมายตลอดเวลา ทำให้ชื่อเสียงของเขาลดน้อยถอยลงไป หรือที่ใครๆเรียกว่า “ข่าวร้าย” แต่ถ้านั่นมันเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น กล่าวคือ ราคาปรับตัวลดลง หลังจากนั้นก็มีคนเริ่มมองว่า ข่าวที่ลือกันไม่เป็นความจริง หรือกลุ่มนักลงทุนได้เห็นความจริงบางอย่าง ที่ทำให้ยังเชื่อมั่นในตัวเขา และยังอยากมาลงทุนกับเขาต่อ กราฟก็กลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลาไม่นาน แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความน่าเชื่อถือของเขา และเมื่อดูกราฟภาพรวมในระยะยาวมันเป็นไปในทิศทางที่ดี


1. เลือก เพราะคุณรักเขา

เหตุผลข้อนี้ มันอาจจะหวานเจี๊ยบไปสักหน่อย .. แต่ถ้าคุณรักใครสักคนหนึ่ง และพร้อมจะอยู่ไปกับเขา คุณจะเชื่อมั่นในตัวเขา คุณพร้อมที่จะให้โอกาสเขา คุณพร้อมที่จะฟังเขา เขาอาจจะไม่ได้มั่งมี ไม่ได้หรูหราเหมือนคนอื่นๆ แต่ก็ยังมั่นคงกับคุณอย่างต่อเนื่อง ตรงไปตรงมา อยู่ด้วยกันแล้วสบายใจ เพราะ นิยามของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ส่วนที่ขาดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงมีความต้องการคนที่มาเติมเต็มต่างกัน คุณอาจจะชอบความหวือหวา หรือบางครั้ง คนอื่นอาจจะชอบความมั่นคง มันก็แล้วแต่คุณจะเลือก เพราะ พลังแห่งความรัก สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หลายอย่าง .. โดยที่คุณไม่รู้ตัว

โดยสรุป

“คนเล่นหุ้น มีหลายหุ้นเนื้อคู่ในพอร์ตได้นะ  .. แต่ในชีวิตจริงอย่ามีเนื้อคู่หลายคน เดี๋ยวจะหัวแตกกันได้นะครับนักลงทุน”

“แน่นอนว่า เราทุกคนหวังว่าเราจะได้อยู่ด้วยกันไปในทุกๆวัน แต่ถ้าวันหนึ่ง เราไม่สามารถไปด้วยกันต่อไป เราก็ต้องปล่อยมือกัน ไม่ควรฝืนให้มีใครเจ็บช้ำเลย”

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความอดทน ความมีวินัยในตัวเอง และการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง คุณทนไม่ขายเมื่อเห็นมันบวก 60% ได้หรือไม่ หรือคุณสามารถมองดูมันติดลบ 50% ได้หรือไม่ ”

อ่านเพิ่มเติม:
รีวิว ผลตอบแทน จากการลงทุน ด้วยกลยุทธ์ จัดพอร์ตการลงทุน H1/2020

 

อ้างอิง :
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า