กบข. คือ อะไร กบข. ลงทุน หุ้น ใน ตลาดหุ้น จนขาดทุนจริงหรือ? กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ (Government Pension Fund) ของ ข้าราชการ แผนการลงทุน การบริหารความเสี่ยง ผลตอบแทน ของ กบข. เกี่ยวข้องกับ งานราชการ และ เงินเดือนข้าราชการ ควรรู้ กองทุน LTF RMT SSF ETF กองทุนรวม ตราสารหนี้ คือ อะไร ลงทุนในกองทุนตลาดเงิน ตลาดต่างประเทศ เช่น 3M, Apple, Amazom, Netflix .. ลงทุนใน หุ้น หรือ ตราสารทุนในประเทศ หรือ หุ้นไทย เกี่ยวข้องอย่างไรกับ SET50, SET100 และ ดัชนี SET INDEX
กบข. ลงทุนในหุ้น จนขาดทุนจริงหรือ?
หลังจากเขียนบทความ “ประกันสังคม ขาดทุน? เงินหาย? .. สํานักงานประกันสังคม ได้รับผลกระทบอะไร?” ในบทความที่แล้ว .. มีคำถามและความคิดเห็นส่วนใหญ่ จากผู้คนทั่วไปที่มาแสดงความคิดเห็นว่า “แล้ว ประกันสังคม หรือ กองทุนประกันสังคม จะบริการจนขาดทุนแบบ กองทุน กบข. หรือไม่?” ..
แจมเพย์ จึงมีความสงสัย กองทุน กบข. ขาดทุน ด้วยหรอ? ..แม้ว่า ข้าราชการจะยังไม่ออกมาเรียกร้องอะไร จากกองทุนฯ จาก ผลกระทบ ของเหตุการณ์โรคระบาด โควิด19 (COVID-19) เพราะ อาจจะยังคงได้รับรายได้ หรือ เงินเดือนข้าราชการเช่นเดิม แม้อาจมีการตัดรายได้อื่นไปบ้างบางส่วนในสถานการณ์นี้ เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าขึ้นเวร ค่าทำงานวันหยุด แต่ความกังวลในเงินของกองทุนฯ หรือ ความต้องการใช้เงินในส่วนต่างๆของตนที่มีอยู่ ในสภาวะวิกฤต อาจจะยังมีไม่มากเท่ากับ ผู้ที่ทำงานบริษัทเอกชน พนักงานบริษัทเอกชน ประชาชนทั่วไป และ ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ที่ต้องการเรียกร้องให้นำ “เงินชราภาพ” จาก กองทุนประกันสังคม คืนมาก่อน เพื่อใช้จับจ่ายประทังชีวิตและเอาตัวรอดให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งแจมเพย์ได้อธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้
แจมเพย์ ขอเป็นตัวแทนในการเข้ามาสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผลตอบแทน จากการลงทุน แผนการลงทุน ความเสี่ยง และ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของกองทุนฯ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกท่าน ได้อ่านไปพร้อมๆ กัน เอาล่ะ ไปเริ่มกันเลย ..
สารบัญ
(คลิกเพื่อนำทางไปยังหัวข้อ)
– กบข. คือ อะไร
– หน้าที่ของ กบข.
– ทำไม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ต้องนำเงินสมาชิก หรือ ข้าราชการ ไปลงทุน
– ความเสี่ยงของ กบข.
– สัดส่วนพอร์ตการลงทุน ของ กบข.
– โดยสรุป: กบข. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ บริหารงานจนขาดทุน จริงหรือไม่
กบข. คือ อะไร
กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ (Government Pension Fund : GPF) คือ กองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 (พระราชบัญญัติ กขบ.) ซึ่ง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ไม่มีสถานะเป็นส่วนงานราชการ หน่วยงานราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ ดังนั้น “รายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน” และ กองทุนสามารถนำรายได้ ผลตอบแทนจากการลงทุนไปลงทุนต่อเนื่องเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิก หรือ ข้าราชการ นั่นเอง
วัตถุประสงค์ ของการจัดตั้ง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
1.เป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับชาการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ
2.ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก
3.จัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก
กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ หรือ กบข. ทำหน้าที่อะไร
หน้าที่หลัก ของ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (Government Pension Fund) คือ หน้าที่ด้านการลงทุน และ หน้าที่ด้านการบริหารสมาชิก
1.หน้าที่ด้านการลงทุน
นำเงินที่ได้รับจากสมาชิกและส่วนราชการไปลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ตวมวัตถุประสงค์ของกฏหมาย และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด
2.หน้าที่ด้านสมาชิก
ดำเนินการเกี่ยวกับ การบริหารฐานข้อมูลสมาชิก การจัดสรรผลประโยชน์จากการลงทุน การประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์แก่สมาชิก รวมถึงการและผลประโยชน์คืนให้แก่สมาชิก
ซึ่งทั้ง “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” ของฝั่งข้าราชการ และ “กองทุนประกันสังคม” ของฝั่งพนักงานบริษัทและประชาชนทั่วไป จะมี วัตถุประสงค์ หน้าที่หลัก ในลักษณะเดียวกัน นั่นเอง
ทำไม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ต้องนำเงินสมาชิก หรือ ข้าราชการ ไปลงทุน
แจมเพย์ ได้อธิบายเหตุผลไว้ในบทความ “บำนาญ-สวัสดิการ ของ งานราชการ-บริษัท อาจมีปัญหา เราเตรียมตัวอย่างไร?” และ “ประกันสังคม ขาดทุน? เงินหาย? .. สํานักงานประกันสังคม ได้รับผลกระทบอะไร?” ก่อนหน้านี้แล้วว่า การที่สถาบันนำเงินสมาชิกไปลงทุน บริหารให้งอกเงย เพื่อสิทธิประโยชน์โดยรวมของสมาชิก และเป็นหลักประกันว่าจะยังสามารถดำเนินการเช่นนี้ต่อไปได้ในระยะยาว และ เพราะมีรายจ่ายสิทธิประโยชน์แก่สมาชิกอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีผลตอบแทนที่ดี และ เพียงพอ
แล้วทำไมถึงมีการจ่าย บำเหน็จ บำนาญ แก่ ข้าราชการ ทั้งจาก งบประมาณประจำปี และ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
จากข้อมูล ปี 2561 กองทุนบำเหน็จบำนาญช้าราชการ มีสมาชิกทั้งสิ้น 1,056,825 ราย และจากข้อมูล วัยทำงาน ในบทความ “บำนาญ-สวัสดิการ ของ งานราชการ-บริษัท อาจมีปัญหา เราเตรียมตัวอย่างไร?” ปี 2562 มีข้าราชการทั้งสิ้น 1.58 ล้านราย (ไม่นับลูกจ้าง และ พนักงานของราชการ 1.82 ล้านราย)
อนุมานได้ว่า มีข้าราชการบำนาญ ที่ทำงานก่อน วันที่ 27 มีนาคม 2540 ที่ไม่ได้สมัครใจเข้าร่วมกองทุนฯ และยังอยู่ในระบบการจ่ายบำนาญแบบเก่า จาก งบประมาณรายจ่าย จำนวนโดยประมาณ 5 แสนราย
และ อนุมานว่า เป็น “พนักงานราชการ” (Government Workers) ลูกจ้างของรัฐ ประมาณ 1.82 ล้านรายนี้ ที่อาจอยู่ในระบบ สวัสดิการประกันสังคม และเกี่ยวข้องกับ กองทุนประกันสังคม ที่นำพนักงานราชการเข้าระบบโดยหน่วยงานราชการ และส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
ซึ่งสอดคล้องกับ ข้อมูลจำนวนพนักงานบริษัทเอกชน จำนวนประมาณ 14.8 ล้านราย ที่มีจำนวนผู้ประกันตนในกองทุนประสังคมทุกมาตรา ทั้งสิ้นประมาณเกือบ 18 ล้านราย โดยมี ผู้ประกันตนต่างชาติ ประมาณ 1 ล้านราย และ ข้อมูลจำนวนเงินสมทบของลูกจ้างประจำในงบประมาณรายจ่าย
ซึ่ง ใน พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ปีงบประมาณ 2563 หมวด 2 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง ระบุว่า มีรายจ่าย “เงินเบี้ยหวัด เงินบำเหน็จ บำนาญ” ประมาณ 26,5716,318,000 บาท หรือ 2.65 แสนล้านบาท เฉลี่ยเงินบำนาญต่อบุคคลในระบบบำนาญแบบเก่า ประมาณ 5 แสนราย จะเท่ากับ 530,000 บาทต่อคนต่อปี เฉลี่ยรายเดือนเท่ากับ 44,000 บาทต่อคนต่อเดือน
ตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 คือ การเป็นหลักประกันในการจ่ายบำเหน็จบำนาญแก่ข้าราชการ แต่ ทำไมกันนะ ..
เดิม ข้าราชการได้รับ บำเหน็จบำนาญ จาก งบประมาณรายจ่าย แต่ไม่ได้มีการหักเงินเข้ากองทุนฯ แบบปัจจุบัน ซึ่งหากวิเคราะห์ ในระยะยาวการจ่ายแบบนี้ไปเรื่อยๆ เงินงบประมาณที่ต้องจ่ายอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงมีการตั้ง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ขึ้นมาตาม พรบ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ปี 2539 และนำเงินสะสมของสมาชิก หรือ ข้าราชการ ไปบริหารนั่นเอง
จึงยังมีสัดส่วน ข้าราชการที่อยู่นอกกองทุนบำเหน็จบำนาญ ที่ยังได้รับบำเหน็จ บำนาญจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่บางส่วน ตามตัวเลขที่ได้กล่าวไปข้างต้น และ ข้าราชการในปัจจุบันถูกนำเข้าระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อให้ยังสามารถจ่ายสวัสดิการ บำเหน็จ บำนาญแก่ข้าราชการได้ในระยาวนั่นเอง
ไม่อยากโดนหักเงินเข้า กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (รวมถึง กองทุนประกันสังคม) แล้วนำเงินส่วนนั้นไปลงทุนเอง ซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันภัยเองได้หรือไม่
ตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก ทั้งจาก กองทุนประกันสังคม และ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ในยามปกติ เราทุกคนมักไม่ค่อยหักเงินออมก่อนใช้จ่าย หรือ มีวินัยทางการเงินมากเพียงพอ ที่จะบังคับให้ตนเองหักเงินออมก่อนใช้จ่าย นั่น คือ ความเสี่ยงต่อการออม ซึ่งหากเรารักษาวินัยเหล่านี้ไม่ได้ ในท้ายที่สุดบั้นปลายชีวิต เราอาจมีสัดส่วนเงินเพื่อการเกษียณไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายได้นั่นเอง
หรือ บางท่าน อาจมีรายได้ไม่เพียงพอกับการใช้ชีวิตประจำวันเสียด้วยซ้ำ จาก ค่าครองชีพ ราคาสินค้า หรือ ระดับรายได้ที่น้อย จะนำเงินจากไหนมาเก็บออม แม้ว่าสัดส่วนเงินจากการหักสะสมเข้ากองทุนฯ จนถึงตอนวัยเกษียญ จะไม่ได้สูงมากนัก เมื่อเทียบกับเงินที่ควรมีหลังเกษียณอายุ ตลอดอายุของเราไปจนถึงวันที่เราเสียชีวิต ตามสัดส่วนอัตราเงินเฟ้อ
แต่ การหักเงินส่วนนี้ไปก่อนหน้าที่จะมีการใช้จ่าย หรือ รายจ่าย เป็นสิ่งที่ดีที่สุด และถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ และทำหน้าที่เป็นตัวช่วยในการออมแก่สมาชิก ที่อาจเข้าไม่ถึงระบบประกันต่างๆ จากสถาบันการเงิน หรือ บริษัทเอกชน
ในความเป็นจริง เราสามารถมีทางเลือกที่หลากหลายได้ อาทิ การเข้าระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (รวมถึง กองทุนประกันสังคม) หนึ่งทาง และ เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินเหลือเก็บมากเพียงพอ อาจเริ่มต้นลงทุนด้วยตนเองเพื่อเพิ่มความมั่งคั่ง และ เริ่มต้นซื้อ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือ ประกันภัย ด้วยตนเองด้วยไปอีกทางเลือกหนึ่ง เป็นต้น
ความเสี่ยง และการบริหารความเสี่ยง จากแผนการลงทุนของ กบข.
ความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ถูกบรรจุไว้ใน รายงานประจำปี ของ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ คือ ความเสี่ยงจากสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ในช่วงเดือน กันยายนของทุกปี
ช่วงที่ กองทุนฯ ต้องมีการจ่ายคืนเงินแก่สมาชิกที่พ้นสภาพพร้อมๆ กัน ซึ่งมีประมาณ 35,000 คนต่อปี ในช่วง 3 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่ของกองทุนฯ ลงทุนอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ความมั่นคงสูง และ เป็นการลงทุนระยะยาวนั่นเอง
ซึ่งความเสี่ยงนี้ กองทุนประกันสังคม จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องนี้เช่นกัน ตอนที่เริ่มมีการคืนเงินสมาชิกที่อายุ 55 ปี และ ส่งเงินเข้ากองทุนมามากกว่า 180 เดือน ในอนาคต หากผู้ประกันตนที่ส่งเงินไม่ถึงเกณฑ์บำนาญ และรับเป็นเงินบำเหน็จ (เงินก้อน) เรียกว่า “เงินบำเหน็จชราภาพ” พร้อมกับ ผลตอบแทนจากเงินของผู้ประกันตน
แผนการลงทุน ของ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
แผนการลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแบ่งออกเป็น 7 แผน ดังนี้
- แผนหลัก
- แผนตลาดเงิน
- แผนผสมหุ้นทวี
- แผนสมดุลตามอายุ
- แผนตราสารหนี้
- แผนตลาดเงิน
- แผนตราสารทุนไทย
การบริหารความเสี่ยง ของแต่ละ แผนการลงทุน ของ กบข. จะแตกต่างกันออกไป ทางกองทุนฯ จัดพอร์ตการลงทุน ในแต่ละแผน ด้วยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่ต่างกันออกไป เปรียบเสมือน บริษัทย่อย ในธุรกิจเอกชน
ดังนั้น ผลตอบแทนในแต่ละแผนการลงทุน จะแตกต่างกันไป หากเลือกแผนการลงทุน หรือ พอร์ตการลงทุน ที่แตกต่างกัน และ ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของสมาชิกแต่ละท่าน และผลกระทบจากสภาวะตลาด และ เศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ย่อมแตกต่างกันออกไปในสมาชิกแต่ละราย
และ เป็นความเสี่ยงของสมาชิกที่เกษียณในปีนั้นๆ ที่อาจได้รับเงินสะสม พร้อมผลตอบแทนที่ลดลงในปีที่เกษียณราชการ ซึ่ง ทางกองทุนฯ มีทางเลือกให้สมาชิก เลือก “ออมต่อ” ได้ หรือ เลือกทะยอยจ่ายคืน กล่าวคือ ยังให้กองทุนนำเงินของท่านไปบริหารต่อไปก่อน แม้ตัวท่านจะเกษีษณราชการแล้ว เพื่อเป็นทางเลือกในการลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง แต่ทั้งนี้ ท่านจะไม่สามารถสะสมเงินเข้ากองทุนฯ เพิ่มได้
สัดส่วนการลงทุน หรือ พอร์ตการลงทุนของ กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ ลงทุนในอะไรบ้าง
มีการเปลี่ยนแปลงการลงทุน ใน พอร์ตการลงทุนของ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ระหว่างปี 2561 จนถึง 2562 ดังนี้
ในปี 2561 กองทุนฯ ลงทุนใน ตราสารหนี้ภาครัฐไทย ตราสารหนี้ระยะสั้นไทย และ ตราสารตลาดเงิน รวมกัน เท่ากับ ร้อยละ 48.04 (%) จากเงินลงทุนทั้งหมด ในขณะที่ ปี 2562 เหลือ เท่ากับ ร้อยละ 37.05 (%) ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ เพื่อรับมือการถดถอย อยู่ในสัดส่วนที่สูงที่สุดของพอร์ตการลงทุน
อ่านเพิ่มเติม:
–พระราชกำหนด กู้เงิน หลักล้านล้านบาท รัฐบาล กู้เงินจากสถาบันการเงินใดได้บ้าง
ในกลุ่มการกระจายความเสี่ยง มีการลงทุนตราสารหนี้ภาคชนโลก เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 2.47 (%) จากเดิมลงทุนร้อยละ 0.01 (%) มากกว่า แผนการลงทุนปี 2561
กลุ่มรองรับการขยายตัว มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนตลาดพัฒนาแล้ว ซึ่งก็คือ “หุ้นจากบริษัทในประเทศพัฒนาแล้ว” ตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อาทิ 3M, Amazon, Apple, Berkshire Hathaway, Alphabet (Google), Facebook, Netflix, Alibaba, Starbucks, Salesforce, Oracle, Tesla, Mastercard, Microsoft และ McDonald’s หรือ ประเทศเกาหลี อย่าง Naver (LINE) เป็นต้น ในปี 2560-2561 เพิ่มขึ้นจากเดิม ร้อยละ 6.06 (%) เป็น ร้อยละ 7.47 (%) ในปี 2562 หรือ ตราสารทุน หรือ หุ้น จากบริษัทจดทะเบียนในประเทศ จะเป็นกลุ่ม SET50 และ SET100 เป็นต้น
ซึ่งเป็นธรรมดาที่ กองทุนฯ จำเป็นต้องลงทุนในกลุ่มที่สร้างโอกาสในการเติบโตสูงขึ้น แม้จะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เพื่อผลตอบแทนด้านปันผลที่เพิ่มขึ้น และ มูลค่าหน่วยลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อประโยชน์ในการบริหารเงินลงทุนของสมาชิก (**การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจ ก่อนตัดสินใจลงทุน**)
แต่ด้วย ผลกระทบ จากวิกฤต โควิด19 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบโดยตรง ต่อ ตลาดการเงิน ตลาดทุน ตลาดหุ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรง กับภาพรวมผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนฯ แต่สินทรัพย์ส่วนใหญ่ อยู่ในรูปสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ และ เป็นสถาบันการเงินภายในประเทศ ยังสามารถทำให้กองทุนยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ และ ได้รับความเสียหายจากผลกระทบน้อยกว่า พอร์ตการลงทุนที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงอื่นๆ
ทั้งนี้ กองทุนยังมี ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จากการ ลงทุนในตลาดต่างประเทศ ทั้งจากการขาย หรือไถ่ถอน สินทรัพย์ เมื่อครบกำหนด หรือ เงินปันผล จากบริษัทในต่างประเทศ เมื่อแปลง สกุลเงินต่างประเทศ มาเป็น ค่าเงินบาท (THB) อาจทำให้เกิดการขาดทุนทางบัญชี เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการซื้อ-ขายสินทรัพย์ที่ลงทุนระหว่างปี ต้องมีการซื้อสัญญาล่วงหน้า เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนไว้สำหรับบริหารความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
ผลตอบแทนของ กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ เป็นอย่างไรบ้าง
จากภาพ ในปี 2562 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีผลตอบแทนการลงทุน (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) เท่ากับ ร้อยละ 5.73 (%) และ มูลค่าหน่วยลงทุนตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
และแม้ผลตอบแทนโดยรวมจะมีแนวโน้มลดลง แต่ด้วยเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นมหาศาล รวมกับ เงินที่ได้จากผลตอบแทน และ กำไรสะสม มาตลอดตั้งแต่ก่อตั้งกองทุน ดูได้จากมูลค่าหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การได้รับผลตอบแทนที่ระดับดังกล่าว ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่น่าพอใจ และ ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
จากข้อมูลตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน มีเพียง 1 ปี เท่านั้น ที่ผลอบแทนจากการลงทุน ติดลบ ร้อยละ 5.17 (%) ในปี 2551 และ หากมองให้ลึกลงไปอีก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เข้าซื้อ หุ้น ในตลาดหุ้น หรือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ย่อมได้ราคาทุนที่อยู่ในระดับต่ำกว่าราคาตลาดปัจจุบันมาก เพียงแต่ สัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทย หคือ ตลาดตราสารทุนไทย มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6-7 (%) เท่านั้น เมื่อเทียบกับ พอร์ตการลงทุนทั้งหมด
เกิดอะไรขึ้นกับ การลงทุน และผลตอบแทนการลงทุน ของกบข. ปี 2551
ปี 2551 เกิดอะไรขึ้น เพราะ เป็นปีเดียวตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนขึ้นมา ที่ระดับผลตอบแทนโดยรวมติดลบ และยังติดลบมากถึง ร้อยละ 5.17 (%) .. เราลองย้อนสืบค้นเอกสาร วารสารกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ปี 2552 ในเนื้อหาของวารสาร มีตัวแทนสมาชิกกองทุนฯ สอบถามว่า “กบข. ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเกินไปหรือไม่ จึงทำให้ประสบปัญหาขาดทุนในปี 2551”
ทาง กบข. ให้คำตอบแก่สมาชิก ใจความสำคัญ คือ เงินลงทุน ควรลงทุนในสินทรัพย์ความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 (%) และ เงินสดสำรอง ให้นำไปลงในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ (ตามหลักเกณฑ์ในช่วงเวลานั้น)
แต่ กบข. เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ความมั่นคงสูง มาที่ระดับ ร้อยละ 78 (%) และ สินทรัพย์มั่นคงสูงเหล่านี้ให้ผลตอบแทนที่ต่ำ พันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี ได้ผลตอบแทนเพียง ร้อยละ 3.5 (%) ต่อปี และ ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในปี 2551 ปีเดียว ร้อยละ 48 (%) ส่งผลทำให้ผลตอบแทนการลงทุนนปี 2551 ติดลบ
ทำไมตัวเลขยอดเงินในบัญชี กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มันลดลง
ส่วนนี้ เป็นความเห็น ของ แจมเพย์ .. ตัวเลขที่ลดลงมาจาก มูลค่าสินทรัพย์ และมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนที่ลดลง ในส่วน “ผลประโยชน์” จากการแสดงผลตัวเลขยอดเงินแบบกองทุน
แต่ เงินต้น ของเรายังอยู่ในจำนวนเท่าเดิม คล้ายกับการที่เราลงทุนใน ตลาดหุ้น ที่มูลค่าพอร์ตการลงทุนของเรา จะปรับเปลี่ยนไปตามราคาตลาด ในกรณีของกองทุน คือ มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุน นั่นเอง
หากผู้ที่ไม่เคยลงทุนในตลาดการเงิน หรือ ลงทุนระยะยาว อาจเกิดความวิตกกังวลว่าเงินของฉันหายไปไหน ทำไมเงินของฉันลดลง อาจก่อให้เกิดความเชื่อที่ผิดๆ และการปล่อยข่าวสร้างความเชื่อที่ผิดๆ ว่า กองทุนลงทุนผิดพลาดจนเงินหายไป ทั้งๆ ที่จริง เงินส่วนนี้ยังเป็น “ผลตอบแทนที่เรายังไม่ได้รับรู้ ณ เวลานี้” (Unrealized Profit/Loss)
ซึ่งจะได้กำไรหรือขาดทุนจริงๆ (Realized Profit/Loss) ก็ต่อเมื่อ เราได้ทำรายการซื้อขายเรียบร้อยเท่านั้น ดังนั้น หากถือหน่วยลงทุนไว้ เท่ากับว่าเรายังไม่ขาดทุนเป็นตัวเงินจริง เพียงแค่ ผลตอบแทนที่ได้ จะลดลงตามสภาวะตลาดนั่นเอง โดยปกติ ตอนมันเพิ่มเราก็ไม่ได้รู้สึกอะไร หรือ อาจไม่สงสัยว่าเพิ่มมาได้อย่างไร และ อาจไม่ได้สังเกตเห็นมากเท่าตอนที่มันปรับลดลง
โดยสรุป: กบข. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ บริหารงานจนขาดทุน จริงหรือไม่
บาดแผลที่ถูกพูดถึงจนถึงทุกวันนี้ อาจมาจากบาดแผลการลงทุนของ กบข. ในปี 2551 จากวิกฤตในตลาดการเงินระดับโลก อย่าง วิกฤตซับไพรม์ หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เหมือนการเอาความผิดพลาดครั้งเดียว ที่เกิดจากปัจจัยภายนอก มาพูดตอกย้ำซ้ำๆ จนกลายเป็นภาพจำไปในที่สุด
แต่หากเรามองที่ มูลค่าหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุนขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีและน่าพอใจ
จากคำถามที่ว่า กองทุน กบข. ลงทุนในหุ้น จนขาดทุน หรือไม่
ตอบว่า .. ผลตอบแทนจากการลงทุนโดยรวมติดลบจริง เกิดจาก ราคาหลักทรัพย์ หรือ ราคาหุ้น ที่ลดลงจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 และเป็น “การขาดทุนกำไร” หรือ “ขาดทุนผลประโยชน์” โดยไม่ได้กระทบกับเม็ดเงินที่ลงทุน เพราะ เป็นการลงทุนระยะยาว
รวมถึง หากเราลงทุนในระยะเวลาที่นานพอ เงินลงทุนส่วนใหญ่ของเรา จะเป็นเงินที่มาจาก ผลตอบแทน หรือมาจาก เงินปันผล และ เราจะมีปันผลสะสมที่มากเพียงพอที่ทบต้นเข้าไป ทำให้พอร์ตการลงทุนของเราใหญ่ขึ้น หากเป็น บริษัท ก็เทียบให้เห็นภาพ ก็น่าจะคล้ายกับ “กำไรสะสม” ที่เราสามารถจัดสรรนำมาลงทุนต่อไปเรื่อยๆ เป็นพลังของหลักการ “ดอกเบี้ยทบต้น” (Compounding Effect)
การขาดทุนแบบยังไม่ได้รับรู้ (Unrealized Loss) กับ การลงทุนระยะยาว (Long-Term Investment)
หากเราเป็น นักลงทุนระยะยาว (Value Investors) เราจะคำนึงถึง ผลตอบแทนในรูปปันผล (Dividend Yield) มากกว่า ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา (Capital Gain)
และ แม้ว่าร ราคาหุ้น หรือ ราคาตลาดของสินทรัพย์ จะปรับตัวลดลงก็ตาม เพราะ ราคาที่ปรับตัวลดลงมานั้น ยังไม่ใช่การขาดทุนที่แท้จริงที่เกิดขึ้น การขาดทุนที่แท้จริงที่เราจะรับรู้ (Realized Loss) จะเกิดขึ้นต่อเมื่อ เรามีการทำรายการซื้อขายเรียบร้อยเท่านั้น และ อาจไม่ใช่มูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์นั้นๆ ในทางกลับกัน เงินปันผลจากหุ้นรายตัว ตัวนั้นๆ เป็น เงินปันผลที่เกิดขึ้นจริง เราได้รับเงินจริงๆ กลับมาเป็นผลตอบแทนในรูปตัวเงิน
เราได้อะไรจากเรื่องนี้ ในการบริหารความเสี่ยง จัดพอร์ตการลงทุน ..
พอเราเริ่มมีเงินมากขึ้น พอร์ตการลงทุนของเราใหญ่ขึ้น เราจะเริ่มไม่ต้องการความเสี่ยงสูงอีกแล้ว เราจะต้องการผลตอบแทนที่ระดับ ร้อยละ 5-7 (%) ต่อปี และ พอร์ตการลงทุนที่เพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์มั่นคงสูงมากขึ้น กว่า การลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงสูง
ไม่ได้ต้องการผลตอบแทนสูงลิ่วขนาดนั้น ส่วนหนึ่งเพราะ เงินลงทุนของเรามันขยับขยายได้ยากมากกว่าเดิม และที่ระดับผลตอบแทนเท่านี้ ก็สามารถทำให้เราอยู่ได้อย่างสบายๆ และการบริหารเม็ดเงินระดับแสนล้านบาท และ ล้านล้านบาท เราจะมาทำเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ได้
ความเสี่ยง ของ การบริหารความเสี่ยง ในสถานการณ์โควิด19 (COVID-19)
ถามว่า กองทุน กบข. มีความเสี่ยงหรือไม่? .. ตอบว่า มีครับ ยกตัวอย่างเช่น “ความเสี่ยง จาก การบริหารความเสี่ยง” กับ สภาวะเหตุการณ์ ผลกระทบ โควิด19 (COVID-19) คือ การที่สินทรัพย์แทบทุกอย่างได้รับผลกระทบด้วยกัน และ พร้อมกัน มีความต้องการขายสินทรัพย์ต่างๆ ทั้งความมั่นคงสูง สินทรัพย์ความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงต่ำออกมาพร้อมๆ กัน เพื่อแปรสภาพเป็นเงินสด (Cash) ในสภาวะเช่นนี้
ซึ่งในสถานการณ์ปกติ อาจจะมีสินทรัพย์บางอย่าง ที่ช่วยพยุงพอร์ตการลงทุนของเราไว้บ้าง เช่น ตลาดหุ้น และ หุ้น ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง แต่ เราอาจยังมี “ตราสารหนี้” ที่ยังได้รับผลตอบแทนในระดับ ร้อยละ 3.5 (%) ต่อปี ให้เราได้อุ่นใจ
แต่สุดท่าย สิ่งเหล่านี้ก็ยังดีกว่า การที่เราไม่บริหารความเสี่ยง เพราะ การบริหารความเสี่ยง อาจช่วยลดความเสียหายจากการลงทุนให้เราได้ จากที่ควรจะเป็บ ติดลบร้อยละ 20 (%) ก็เหลือเพียง ติดลบ ร้อยละ 5 (%) แบบยังไม่ได้รับรู้ในกิจการ (Unrealized Loss) หรือ อาจจะขาดทุนเพราะอัตราแลกเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม:
–บำนาญ-สวัสดิการ ของ งานราชการ-บริษัท อาจมีปัญหา เราเตรียมตัวอย่างไร?
–ประกันสังคม ขาดทุน? เงินหาย? .. สํานักงานประกันสังคม ได้รับผลกระทบอะไร?
–กองทุนประกันสังคม ซื้อหุ้นแพง จนขาดทุน จริงหรือไม่?
–จัดพอร์ตการลงทุน กระจายความเสี่ยงเพื่อให้พอร์ตแข็งแกร่ง!
–การบริหารเงินสด-สภาพคล่อง สำคัญอย่างไรกับชีวิต-ธุรกิจ-การลงทุน?
–“ตลาดหุ้น” และ “หุ้น” ที่ผันผวนแบบนี้ นักลงทุนระยะยาว รับมืออย่างไร?
–ผลกระทบ โควิด19 (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย
–สหกรณ์ออมทรัพย์ มีความเสี่ยง-ได้รับผลกระทบ หรือไม่ อย่างไร?
อ้างอิง:
–รายงานประจำปี 2561 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
–เว็บไซต์กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (Government Pension Fund)
–วารสารกบข.ปี 2553
–วารสารกบข. ปี 2552
–พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2563
–วิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2550-2551