Solo Travel in Tokyo เที่ยวโตเกียวคนเดียว DAY5 | Jampay Pain-Poin เป็นวันที่ 5 แล้วสำหรับการมาเที่ยวญี่ปุ่น
Solo Travel in Tokyo เที่ยวโตเกียวคนเดียว DAY5 | Jampay Pain-Point
วันที่ 5 ของการเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่นคนเดียว เป็นการ Solo Travel ที่ต้องพบเจอสิ่งต่างๆหลากหลายสถานการณ์ และ หลากหลายอารมณ์มากๆเลย แต่เราสนุกมากๆเลยนะ
โดยในวันนี้เราตั้งใจจะเดินเท้า (Enjoy Walking) ลงไปทางด้านล่างของแผนที่ เพื่อสำรวจสถานที่ต่างๆ รวมถึง วันนี้เรามีนัดทานข้าวกับเพื่อนนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นด้วย ทำให้เราต้องวางแผนการเดินทางให้เรียบร้อย ก่อนที่จะไปทานข้าวกับคนที่นัดพบกัน ตามเวลาที่นัดหมายกันไว้
Remind: ทำความเข้าใจร่วมกัน
- สิ่งที่จะได้มากกว่า (Values) คือ สิ่งที่ได้จากการสังเกต มุมมองในการดำเนินธุรกิจ การตลาด และ การลงทุน มุมมองของผู้บริโภค รวมถึงมุมมองที่เข้าใจ “มือใหม่” เพราะ บางครั้งคนเราเขินอายที่จะถามคนอื่นว่าตัวเองไม่รู้ แต่สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เราว่ามีคุณค่ากับผู้อ่าน .. นอกเหนือภาพสวยๆ และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพราะเราถ่ายรูปไม่เก่ง และภาพถ่ายจะไม่มีการแต่ง เกิดจากการปรับแสงหลังกล้องเฉยๆ ไม่มีการปรับความตรงใดๆ อาจจะดูเบี้ยวๆนิดนึง เพราะถ่ายมาเยอะมากครับ และจัดการภาพเยอะๆไม่เป็นด้วย และการไปครั้งนี้เราแทบไม่มีข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวอะไรมากมาย
- จะมีการแสดงโฆษณาคั่นระหว่างบทความ (In-Article Ads) โดยทางเราจะระมัดระวังไม่ให้ขัดกับประสบการณ์ในการอ่านของผู้อ่านทุกท่าน เพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาคุณภาพของเว็บไซต์ต่อไป และหากมีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนบทความ ผู้อ่านทุกท่านจะได้รับประสบการณ์การอ่านแบบไม่มีโฆษณา
- เพื่อเพิ่มอรรถรส (Utilities) เราจะมีชื่อเพลงที่เราเปิดในตอนนั้นระบุไว้ให้ ผู้อ่านสามารถเปิดเพลงนั้นๆเป็นพื้นหลังระหว่างการอ่านได้เช่นกัน เหมือน คุณผู้อ่านเข้ามาชมห้องแสดงงานศิลปะของเรา จะได้เข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกขณะบันทึกภาพเหล่านั้น
- เป็นใช้การพิมพ์เนื้อหาแบบบอกเล่ายาวๆ (Long Take) บางครั้งด้วยการพิมพ์จำนวนมากๆ คำผิดต่างๆ ที่อาจจะ “เล็ดลอด” สายตาเราไปได้ แต่เรากลับมาอ่านอีกครั้งเสมอ และพยายามแก้ไขคำไทยให้ถูกเสมอ หรือหากพบเห็น ก็สามารถแจ้งทางเราได้ และเมื่อแก้ไขแล้ว จะมีเครื่อง “…” ไว้ให้ เพื่อเป็นคำที่ถูกต้อง รวมถึงมี (…) ภาษาอังกฤษไว้ให้ สำหรับคำที่เรามองว่าเป็นประโยชน์
- แจมเพย์ (Jampay) เปิดพื้นที่ให้ธุรกิจต่างๆ ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ฟรี!
- Work From Home Platform | “แพลตฟอร์ม สำหรับทำงานที่บ้าน” สัญชาติไทย
- SEO และ Organic Search ข้อดี-ข้อเสีย ต่อ ธุรกิจ SMEs
การเดินเที่ยวชม (Sightseeing) โตเกียว (Tokyo) แบบ Solo Travel มุ่งลงด้านล่างของแผนที่ ไปยังย่าน “ชินางาวะ” (Shinagawa)
- ร้านขายล็อตเตอรี่ ที่ญี่ปุ่น (Lottery Shop)
ราคาที่ดินในญี่ปุ่น แพงขนาดไหน?
ภาพแสดง “พื้นที่ใช้บริการจอดรถแบบเสียค่าใช้จ่าย” (Paid Car Parking Lot) จากแบรนด์ Times ที่นำพื้นที่ขนาดเล็กนี้มาสร้างที่จอดรถขนาด 2 ช่อง แสดงให้เราเห็นในเบื้องต้นว่า “มูลค่าที่ดิน” (Land Value) และ “ค่าครองชีพ” (Cost of Living) ที่นี่สูงเพียงใดได้ชัดเจนที่สุด
ผู้อ่านอาจจะเกิดคำถามว่า แล้วเราจะทราบเบื้องต้นได้อย่างไร หลังจากเห็นภาพนี้ .. ลองนึกภาพตามว่า สมมติ มูลค่าที่ดินที่สามารถขายได้ บริเวณเมือง โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีมูลค่าที่สูง เจ้าของที่ดิน (Landlord) แปลงเล็กๆ (Plot) คงสามารถขายที่ดินได้ในราคาที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เลย หรือ ทำอาคารพาณิชย์ ทำธุรกิจอื่นใดๆในบริเวณนี้ จะนำที่ดินอันมีค่านี้มาสร้างที่จอดรถทำไมกัน? ซึ่งเจ้าของที่เลือกสร้างที่จอดรถขึ้นมาเพื่อเก็บค่าบริการ มากกว่า เลือกขายที่ดินนี้ไป
แสดงให้เห็นว่า .. เมื่อที่ดินอาจจะมีมูลค่าสูงมาก ทำให้ การที่ผู้คนจะสามารถมีพื้นที่สำหรับจอดรถ หรือ ใช้สอยอื่นๆ ของตนเองนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ยากกว่า ทำให้ต้องอาศัยการเช่าพื้นที่จอดรถตามสถานที่ต่างๆ แม้แต่บริเวณริมถนนก็จะมีเครื่องคิดค่าบริการประจำจุดจอดต่างๆ ซึ่งอัตราค่าบริการในการจอดรถก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
รวมถึงแสดงให้เห็นว่า การมีพื้นที่ของตนเองถือเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดแล้ว หากเจ้าของที่ดินขายที่ดินตรงนี้ไป ก็อาจจะต้องไปซื้อที่ดินฝืนใหม่เพื่ออยู๋อาศัย หรือ เพื่อทำประโยชน์ ซึ่งอาจจะราคาสูงกว่าที่ตนมีซะอีก รวมถึงการสร้างพื้นที่จอดรถเป็น “ช่องทางการสร้างรายได้” (Revenue Chaanel) ตลอดเวลา ที่อาจจะ “มีโอกาสประสบความสำเร็จ” (Opportunities) มากกว่าการทำธุรกิจอื่นๆเสียอีกด้วย หรือ พูดง่าย ๆ คือ “ทำที่จอดรถได้รายได้ดีกว่า ขายของอย่างอื่น” นั่นเอง เพราะเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการอย่างแท้จริง เป็นต้น
ถ้ามาเที่ยวคนเดียว (Solo Travel) เราแนะนำให้ใช้บริการขนส่งสาธารณะดีกว่า
ภาพนี้เป็นเครื่องยืนยันที่ สะท้อนแนวคิด (Mindset) การใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด (Efficiency) .. ลองนึกภาพตามว่า หากรถลักษณะนี้ที่เราเห็นโดยทั่วไปในประเทศไทย หรือที่ใดก็ตาม จะมีลักษณะเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ 6 ล้อ ซึ่งมีขนาดประมาณ 2 เท่า ของรถที่เห็นในภาพ
โดยนำมาใช้กับประเทศญี่ปุ่น ที่ “อัตราค่าบริการในการจอดรถ” (Car Parking Price Rate) อยู่ในระดับที่สูง รวมถึง “พื้นที่จอดรถ” (Parking Lot) เองก็มีจำกัด หรือ หาได้ยาก การจะนำรถลักษณะดังกล่าวไปจอดตามจุดต่างๆคงเป็นเรื่องที่ลำบาก หรือแม้กระทั่งสัญจรไปมาภายในเมืองก็เป็นเรื่องที่ลำบาก และ มีค่าใช้จ่ายโดยรวมที่สูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน จึงสะท้อนออกมาในรูปแบบของการพัฒนาและออกแบบรถบรรทุกขนาดเล็กลักษณะเช่นนี้นั่นเอง
PAINPOINT #10 : หาที่จอดรถที่ว่าง (Parking Lot) ในโตเกียว (Tokyo) ประเทศญี่ปุ่นได้อย่างไร?
จากการสำรวจข้อมูลอย่างง่ายของเรา พบว่า ปัจจุบันเราสามารถหา ที่จอดรถ (Parking Lot) ที่ว่างอยู่ ในโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ผ่าน AirBnb ได้แล้ว (หรือเปล่านะ? หรือ เป็นที่จอดรถของที่พักที่จะพัก) ด้วยแนวคิด “Earn Money by Sharing Your Space” หรือ “สร้างรายได้จากการแบ่งบันพื้นที่ของคุณกับคนอื่น”
แต่เราว่า แนวคิดแพลตฟอร์มหาที่จอดรถ โดยผู้ที่มีพื้นที่จอดรถให้บริการ สามารถลงทะเบียนในแพลตฟอร์มของ “แอร์บีเอ็นบี” (AirBnb) ซึ่งรูปแบบของบริการจะคล้ายกับ “การหาโรงแรมที่พัก” (Hotel, Hostel) แต่ เพิ่มบริการที่จอดรถเข้ามาด้วย
ซึ่งในความเป็นจริง โมเดล (Model) “เศรษฐกิจหรือธุรกิจในเชิงของการแบ่งกันระหว่างกัน” หรือ “Sharing Economy” แบบนี้นี้สามารถนำมาใช้ได้กับพื้นที่ “กรุงเทพมหานคร” (Bangkok) เช่นกัน เพราะด้วยลักษณะของเมืองที่เป็น “มหานคร” (Metropolis) เหมือนกัน เป็นศูนย์กลางสำคัญทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ของประเทศ หรือ ภูมิภาค เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญระดับภูมิภาคหรือนานาชาติ ทำให้มีผู้คนหนาแน่น มูลค่าที่ดินอยู่ในระดับที่สูง และพื้นที่ใช้สอยเป็นไปตามกลไกของเมือง
ทำให้การ Sharing Economy จาก “สินทรัพย์” (Assets) ต่างๆ ที่เรามีเกิดประโยชน์กับผู้อื่นและรวมถึงสร้างรายได้ให้แก่เราเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง “ธุรกิจของการแบ่งกัน” เช่น ณ ปัจจัยอื่นๆคงที่ สมมติ เรามีพื้นที่จอดรถหน้าบ้านของเราในพื้นที่ เขต A แต่ตอนกลางวัน เราต้องไปทำงานที่เขต B ในตอนกลางวันที่เราไม่อยู่บ้าน เราจึงลงทะเบียนกับแพลตฟอร์มให้บริการไว้ รวมถึงเวลาที่ให้บริการ เช่น 9.00-17.00 น.ของ วันจันทร์-ศุกร์ เพื่อผู้ที่ต้องการใช้พื้นที่จอดรถของเราในระยะเวลาหนึ่ง เช่น 1-3 ชั่วโมง เพื่อทำทำธุระต่างๆในโซน A เป็นการแบ่งปันพื้นที่ของเราให้เกิดประโยชน์และรายได้ ได้เช่นกัน เป็นต้น
จากการหาข้อมูลว่า ในประเทศไทยมีลักษณะของ “แพลตฟอร์มค้นหาที่จอดรถ” ตามสถานที่ต่างๆใกล้เคียงกับแนวคิดเหล่านี้หรือไม่ พบเข้ากับ “จุดจอด” (JUDJOD) แอพพลิเคชั่นที่ให้บริการค้นหาที่จอดรถใกล้เคียงกับเรา โดยผู้ที่ให้บริการพื้นที่จอดรถ ต้องลงทะเบียนผ่านแอพฯ จุดจอดก่อน จึงจะสามารถระบุตำแหน่ง และแสดงบนแอพฯเพื่อให้ผู้ต้องการใช้บริการสามารถค้นหาได้ รวมถึงการชำระค่าบริการผ่าน e-payment ภายในแอพพลิเคชั่น
หลังจากเดินต่อมาสักระยะ ก็พบเข้ากับสถานที่แห่งหนึ่งที่ดูน่าสนใจ เปิดใน Google Maps แสดงชื่อ “Tsukiji Hongwanji” โดยตั้งอยู่ใกล้กับ สถานีรถไฟ Tsukiji Station สาย Hibiya Line
เห็นว่าเป็นสถานที่ที่น่าสนใจด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงาม มีความเป็บรูปแบบโบราณ (Antique) จึงแวะเดินเข้าไปชมสถานที่ที่แห่งนี้ โดยตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าเป็นศาสนสถานของศาสนาอะไร แต่เห็นในแผนที่แสดงว่า “วัด” (Temple)
ภาพแสดงให้เห็น พระพุทธรูป รูปปั้นพระโพธิสัตว์ พร้อมเครื่องสักการะต่างๆ
ลวดลายที่วิจิตรตระการตา ซึ่งสอดคล้องกับภาพจำส่วนตัว เกี่ยวกับลักษณะของพระราชวังของ “จักรพรรดิ” (Emperor) หรือแม้แต่ของ “โชกุน” (Shogun) ของ “จักรวรรดิญี่ปุ่น” (Japan Empire) ที่จะมีลักษณะเช่นนี้
ภาพของผู้คนที่กำลังเข้าร่วมการสักการะพระพุทธรูป รวมถึง ทำ “พิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ” (Religious Ceremonies)
บ้านทรงสมัยเก่า ท่ามกลาง สิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่โดยรอบ
ถัดจาก วัด “Tsukiji Hongwanji” เริ่มเดินต่อลงไปทางทิศล่างตามที่ตั้งใจเอาไว้ เริ่มได้กลิ่นอาหารสด กลิ่นควันจากร้านอาหาร และผู้คนมากมาย เมื่อดูในแผนที่แสดงให้เห็น “ตลาดปลาสึกิจิ” เป็นภาษาไทยซะด้วย แสดงให้เห็นถึงสถานที่ ที่อาจจะเป็นสถานที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทย และมีโอกาสพบนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วยกันมากขึ้น ทำให้ชื่อสถานที่มีภาษาไทยปรากฏอยู่
ตลาดปลาสึกิจิ (Tsukiji Fish Market)
- เนื้อวัววากิวเสียบไม้ย่าง (Grilled Wagyu A5 Beef Sticks) พร้อมกับ ไข่หอยเม่น (Uni) และ ไข่ปลาแซลมอน (Salmon Eggs) ราคาไม้ละ 3,500 เยน (JPY) หรือ ประมาณ 997.5 บาท (THB)
- “กุ้งหวาน” (Shrimp) “หอยเชลล์” (Scallop) และ “ปลาไหลย่าง” (Grilled Eel) เสียบไม้ย่าง ราคาไม้ละ 1,000 เยน (JPY) ประมาณ 285-300 บาท (THB)
- เนื้อวัววากิวเสียบไม้ย่าง (Grilled Wagyu A5 Beef Sticks) ด้านล่าง สีสดใสน้อยกว่า (Sallower Color) ราคาไม้ละ 2,000 เยน (JPY) ประมาณ 565 บาท (THB)
- “หอยเชลล์” (Scallop) และ “ไข่หอยเม่น” (Uni) เสียบไม้ย่าง ราคาไม้ละ 1,000 เยน (JPY) ประมาณ 285-300 บาท (THB)
เอาหล่ะ .. เริ่มพอเห็นภาพช่วงราคาของอาหารคร่าวๆแล้ว เราไปเดินสำรวจต่อกันก่อนที่จะมานั่งทานอาหารเช้าพร้อมกับอาหารกลางวันเลยทีเดียว (Brunch)
“โมจิ” (Mochi) VS “ไดฟุกุ” (Daifuku) ต่างกันอย่างไร?
เราสอบถามเจ้าของร้านว่า “โมจิ” และ “ไดฟุกุ” มันต่างกันอย่างไร แล้วคุณเรียกขนมอันนี้เป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร? .. เราได้รับคำตอบมาว่า “เรียกเหมือนกัน แป้งชนิดเดียวกัน แต่วิธีทำขนมต่างกัน” จบ!
เสียงที่เราได้ยินส่วนใหญ่ คือ เสียงพูดภาษาไทย
- ปูทาระบะ (Taraba Crab) 1 ชิ้น (Piece) 3,800 เยน (JYP) หรือประมาณ 1,100 บาท (THB)
- เนื้อปลาดิบ (Sashimi Fish) ร้านเดียวกับปูทาราบะ โดยทางร้านจะนำเนื้อปลาสดๆมาบริการให้เรา แล้วให้เรายืนทานที่โต๊ะบริเวณหน้าร้านเลย (ไม่ทราบราคา ถ่ายจากการสังเกตบุคคอื่น)
- ภาพของร้านขาย “ขนมจีบยักษ์” (Huge Pork Dumpling) ราคาลูกละ 170 เยน (JPY) ประมาณ 48.45 บาท (THB)
ปลาตากแห้งทั้งตัว “คัตสึโอบูชิ” (Katsuobushi) ของญี่ปุ่น รสชาติเป็นอย่างไร?
หากจะให้อธิบายให้เห็นภาพ “ปลาตากแห้งทั้งตัว” หรือ”คัตสึโอบูชิ” (Katsuobushi) ของญี่ปุ่นมี กลิ่นและรสชาติ คล้ายคลึงกับ “ปลาย่าง” หรือ “ปลาตากแห้งย่าง” (Smoked Dried Fish) ของบ้านเราเลย ที่นำไปทำเป็นน้ำพริกปลาย่าง แต่มีรสชาติที่อร่อยกว่า หรือ ที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า รสชาติแบบ “อูมามิ” (Umami) หรือ “อร่อยกลมกล่อม” มากกว่า
เราจะคุ้นเคยกับกลิ่นและรสสัมผัสของ “ปลาย่าง” (Smoked Dried Fish) และ “น้ำพริกปลาย่าง” (Smoked Dried Fish Chili Sauce) เป็นอย่างดี เพราะคุณย่าของเรา ท่านจะทำอาหารไทยได้อร่อยมาก รวมถึง ขนมไทย
ในสมัยที่คุณปู่และคุณย่าท่านยังมีชีวิตอยู่ ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ คุณพ่อกับคุณแม่และเรากับพี่ชาย จะไปทานข้าวกันที่บ้านริมคลอง ซึ่งเป็นบ้านของคุณปู่ และจะมีกลิ่นปลาย่าง หรือ กลิ่นขนมไทย ลอยคลุ้งอยู่ทุกครั้งที่ได้ไป เนื่องจากคุณย่าจะทำอาหาร หรือไม่ก็ขนมไทยอยู่เสมอ พ่อกับแม่ก็จะช่วยกับจัดเตรียมสำรับอาหาร กวาดพื้นบ้าน ส่วนคุณปู่กับเราก็จะออกไปพายเรือเล่น หาปลากัน
ความรู้สึกของการที่ได้กลิ่นและรสสัมผัสนี้ในครั้งแรกที่ได้ลองทานนั้น .. ทำให้ภาพในวัยเด็กของเราชัดเจนขึ้นมาอีกครั้ง (Flashback) สำหรับเรา มันคือ “รสชาติแห่งความทรงจำ”
หลังจากเดินสำรวจบริเวณ “ตลาดปลาสึกิจิ” จนคิดว่าทั่วบริเวณแล้ว จึงตัดสินใจเดินกลับไปที่ร้านขายเนื้อปิ้งย่างเสียบไม้ร้านแรก สั่งมาทั้งหมดเพียง 3 ไม้
- เนื้อวากิวเสียบไม้ย่าง (Grilled Wagyu A5 Beef Stick) ราคา 2,000 เยน (JPY) หรือ ประมาณ 570 บาท (THB)
- ปลาไหลย่างเสียบไม้ (Grilled Smoked Eel Stick) ราคา 1,000 เยน (JPY) หรือ ประมาณ 285 (THB)
- หอยเชลล์ไข่หอยเม่นย่างเสียบไม้ (Grilled Scallop and Uni Stick) ราคา 1,000 เยน (JPY) หรือ ประมาณ 285 (THB)
รวมทั้งหมด 3 ไม้ เท่ากับ 4,000 เยน (JPY) หรือ ประมาณ 1,140 บาท (THB) โดยเจ้าของร้านจะนำของเสียบไม้ต่างๆสดใหม่ อันใหม่มาย่างให้เรา
เนื้อวากิว A5 (Wagyu A5 Beef) รสชาติอย่างไร?
มันเป็นความรู้สึกที่ยากจะอธิบาย แต่หากอธิบายอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพ รสชาติจะละมุนลิ้น หอมนมสด กลิ่นหอมของควันย่าง ความนุ่มของเนื้อคือนุ่มมาก แทบจะไม่ต้องเคี้ยวเลย ยอมรับเลยว่า อยากจะทานทั้งแผงไม่เหลือให้ใครได้ครอบครอง เพราะเราเป็นสายเนื้อ เป็นหมีกรีชลี่ (Grizzly Bear) ต้องการพลังงานมหาศาล แต่ ทาน 3 คำ หายไปแล้ว 600 บาท (THB) ยอมเป็น สัตว์กินพืชก็ได้ เพราะต้องเก็บเงินไว้ทานอย่างอื่นด้วย
“ทานคาวต้องทานหวาน” กับ Daifuku ของ Tsukiji Solatsuki
โดยส่วนตัว เราไม่ค่อยชอบทานของหวานเท่าไหร่นัก และ เราจะ “เต็มใจจ่าย” (Willingness to Pay) กับ “เนื้อย่างเสียบไม้” (Grilled Beef Stick) ไม้ละ 600 บาท (THB) มากกว่า ของหวาน (Sweets) ชิ้นละ 60 บาท (THB) แต่เราเลือกทาน เพราะว่า เราจะถ่ายรูปและจดจำสถานที่เอาไว้ เพื่อจะพาสาวมาด้วยในครั้งหน้า เราต้องทำการบ้านนิดหนึ่ง ว่าร้านไหนอร่อย ร้านไหนที่สถานที่น่าถ่ายรูปได้
“Tsukiji Solatsuki” ร้านนี้ตั้งอยู่ข้างๆร้านขายอาหารเสียบไม้ย่างเลย ตอนเรานั่งทานเนื้อย่างอยู๋ เราเห็นผู้คนมาต่อแถวซ์้อขนมหวานจากร้านนี้ค่อนข้างเยอะ และ ต่างก็นำขึ้นมาถ่ายรูป เราจะพลาดที่จะถ่ายรูปเหล่านี้มาได้อย่างไร และแน่นอนว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการ “ทานคาวแล้วต้องทานหวาน” ทำให้ ร้านอาหารทั้งสองร้านนี้ส่งเสริมกันอย่างเห็นได้ชัด
เราว่า รสชาติกำลังดีนะ ไม่หวานจนเกินไป ทั้งไส้ สตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry) และแป้งโมจิจะนุ่มๆหนึบๆ ไม่หวานมากนัก แต่ปัญหาอยู่ที่ น้ำตาลโรยหน้า ที่จะกระจายเต็มเสื้อผ้าสีดำล้วน (All Black) ของเราเท่านั้น และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging Design) ออกแบบมาอย่างดี เอื้อต่อการส่งเสริมให้ลูกค้าได้ถ่ายรูปลงโซเชียลมิเดีย (Social Media) อยู่แล้ว
อ่านเพิ่มเติม : MK Restaurants x Fire Tiger กลยุทธ์ทางธุรกิจที่น่าสนใจ มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร?
หลังจากทานของหวานจาก ตลาดปลาสึกิจิ เรียบร้อยแล้ว เราก็ตัดสินใจเดินลงไปทางด้านล่างของแผนที่ไปเรื่อย ๆ ตามที่ตั้งใจไว้ เดินมาไม่ถึง 30 ก้าว เราพบร้านอาหารร้านหนึ่ง ซึ่งคนแน่นมากๆ มีผู้คนต่อแถวอยู่บริเวณตรงนั้นหนาตา
ภาพนี้แสดงให้เห็นว่า “ไม่ต้องบอกก็รู้ ว่า ร้านนี้ต้องเป็นร้านที่อร่อยมากๆแน่ๆ” เราดูจากประสบการณ์ส่วนตัว เพราะหม้อที่ใช้ในการปรุง เป็นหม้อที่ดูเก่า ดูทีร่องรอยของเรื่องราวที่ผ่านกาลเวลา
หรือ ผู้อ่านเคยได้ยินคำพูดประมาณ หรือ ทำนอง นี้หรือไม่? .. “ร้านอาหารที่หม้อหรือเตา ไม่เคยปิดมาแล้วกว่า … ปี” เป็นคำพูดเปรียบเปรย ที่ แสดงให้เห็นว่า ทางร้านนั้น เป็นร้านอาหารขายดี ต้องทำอยู่ตลอดเวลา ขายเสร็จวันนี้ก็ต้องตั้งหม้อเคี่ยว “หัวเชื้อ” (คือ น้ำซุปที่เหลือบางส่วน) ไว้สำหรับวันใหม่เลย เปรียบว่า แทบจะไม่ได้ปิดหม้อเลยนั่นเอง ดังนั้น ความอร่อย ความเข้มข้นของรสชาติที่ได้จากน้ำซุปที่ผ่านการเคี่ยวในทุกๆวัน จะเข้มข้นขนาดไหนกัน และต้องอร่อยมากแน่ๆ และลักษณะของหม้อของร้านนี้ ตรงกับ คำพูดนั้นเลย
ภาพแสดงให้เห็นว่า ผู้คนยืนรายล้อม และใช้พื้นที่ของโต๊ะวางถ้วยข้าวที่มีอยู่อย่างจำกัดร่วมกัน โดยยืนรับประทานอยู่ตรงโต๊ะบริเวณหน้าร้าน ทำให้บริเวณร้านนี้มีผู้คนหนาแน่นอย่างมาก
ส่วนตัวเรามาทราบทีหลังว่า ร้านนี้เป็นร้านดังที่ใครๆต่างก็อยากไปรับประทาน และ เมื่อมาแล้วต้องมารับประทาน ซึ่งเราเดินผ่านร้านนี้ไปโดยที่ไม่ได้แวะทาน เพราะต้องนั้นยังอิ่มอยู่เลย จากนั้นเราก็เดิเท้าต่อไปตามที่เราตั้งเป้าเอาไว้ โดยลงไปทางทิศล่างของแผนที่ไปเรื่อย ๆ
- เทรนด์แฟนชั่นของวัยรุ่นวัยทำงานในโตเกียว ภาพนี้แสดงให้เห็น โทนสีในการแต่งกายของผู้คนในญี่ปุ่น อย่างชัดเจนที่สุด ในปัจจุบัน ผู้คนจะแต่งกายด้วยสี “เอิร์ธโทน” (Earth Tone) และ “สีเบจ” (Beige Color) เป็นส่วนใหญ่
อ่านเพิ่มเติม : เทรนด์แฟนชั่นของวัยรุ่นวัยทำงานในโตเกียว Solo Travel in Tokyo เที่ยวโตเกียวคนเดียว DAY4 | Jampay Pain-Point
- Green Zone in Urban ภาพแสดงให้เห็นความแตกต่าง (Contrast) ระหว่าง พื้นที่สวนสาธารณะสีเขียวชอุ่ม กับ พื้นที่ของอาคารและความเป็นเมือง ถูกคั่นกลางด้วยคลองขนาดเล็ก เป็นอีกหนึ่งภาพถ่ายที่เราค่อนข้างชอบมากๆ เมื่อได้นั่งดูมัน
“ทำไมญี่ปุ่นถึงสะอาด ไม่มีฝุ่น และ ไม่ค่อยมีขยะ และดูสะอาด” คำถามจากผู้คนส่วนใหญ่ .. และภาพเหล่านี้ แสดงให้เห็นส่วนหนึ่งของความลับ ..
ความลับของสิ่งเหล่านี้ คือ “กระบวนการทำงาน” (Operarion Process) เราได้เรียนรู้จากพวกเขาเหล่านี้ เราได้ยินชมการทำงานของ พี่ๆเจ้าหน้าที่ของเมือง หรือ ของเขตพื้นที่เท่านั้นทำงานแล้วเราถึงได้เข้าใจว่า .. ทำไมบ้านเมืองเขาถึงดูสะอาดสะอ้านได้ขนาดนี้
จากภาพเราจะเห็นได้ว่า .. เจ้าหน้าที่ ยืนเรียงแถวกันเพื่อทำงานในพื้นที่เดียวกัน ดังนั้น ฝุ่น คราบสกปรก หรือ ขยะ คงไม่สามารถเล็ดลอดการจับกุมของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไปได้แน่นอน เพราะหากคนแรก (หัวแถว) ทำความสะอาดได้ไม่สะอาดพอ คนที่ 2 หรือคนถัดไปจะรับหน้าที่จัดการกับส่วนที่ไม่สะอาดนั้นตามหลังไป
เพียงเท่านั้นยังไม่พอ ยังมีระดับหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 คน (ดังภาพ) คอยกำกับดูแลการทำงานของทีมงานทั้งหมด ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าเองก็มีอุปกรณ์ในการทำความสะอาดเช่นกัน และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 2 คน คอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่สัญจรไปมาทราบว่า มีการทำงานของเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณนี้ให้ระมัดระวัง
เราเห็น “ขั้นตอนการตรวจสอบ 2 ขั้น” (Rechecking) ระหว่างกันอย่างเปิดเผย ของคนญี่ปุ่นมาตลอด 4-5 วันที่มาอยู่ที่นี่ เช่น เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจะบอก เจ้าหน้าที่อีกคนด้วยการประกาศออกเสียง แล้วเจ้าหน้าที่อีกคนจะทำการตรวจสอบรอบที่สอง ก่อนจะขานรับ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น “บริเวณนี้สะอาดเรียบร้อยครับ” (เราเดาคำพูดนะ) เจ้าหน้าที่อีกคนจะกวาดนิ้วดูพื้นที่ทั้งหมด ก่อนจะขานรับว่า “ครับ บริเวณนี้สะอาดเรียบร้อย” เป็นต้น
เราเดินไปอย่างไม่ได้ดูอะไร ด้วยความที่เห็นสะพานสีขาวนั้นแล้วอยากเข้าไปหามุมถ่ายรูปสวยๆใกล้ๆ เกือบจะเดินเข้าไปในเขต ที่เป็นการท่าเรือของประเทศญี่ปุ่น ที่มีรถบรรทุกสินค้ามากมาย รวมถึงมีลักษณะเป็นคลังสินค้า (Warehouse)
เมื่อเราเดินตรงเข้าไป เจ้าหน้าที่รักษาความปลิดภัยวิ่งมาด้วยความเรียบร้อย พร้อมกระบองในมือ และทำมือและแขนเป็นรูปกากบาทซ้ำๆ พร้อมกับน้ำเสียงที่บอกว่า ไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่นี้ เมื่อเราหยุดชะงัก เจ้าหน้าที่ก็หยุดชะงักเช่นกัน พร้อมมือกระบอกพลางยืนนิ่งกับที่ จ้องมองมาที่เรา เมื่อเราพยักหน้าว่าทราบแล้วและเดินถอยออกมา เจ้าหน้าที่ท่านนั้นก็พยักหน้า แล้วเดินถอยหลังกลับไป (เกือบโดนทุบแล้วไหมหล่ะกู)
- ภาพ “สะพานสายรุ้ง” บริเวณใกล้เคียงกับ Shibaura Anchorage แต่ไม่ชัด น่าเสียดาย
“รถไฟฟ้ารางเบา” (Light Rail Transit) และ “รถราง” (Tram) ที่เหมาะกับพื้นที่ “จังหวัดพิษณุโลก” (Phitsanulok, Thailand)
เป็นที่ทราบกันดีว่า .. “ระบบขนส่งมวลชน” ช่วยลดปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างดี การที่ระบบขนส่งมวลชนครอบคลุมพื้นที่ของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ช่วยทำให้ผู้คนได้รับประโยชน์ และช่วยให้ผู้คนหันมาใช้ระบบชนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในภาพรวม สามารถช่วยลดปัญหาความหนาแน่นของการจราจรภายในเมืองได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน
บางคนถามว่า กรุงเทพมหานคร มีระบบขนส่งมวลชนแล้ว แต่ทำไมรถยังหนาแน่นอยู่เหมือนเดิม? .. เรามองว่า เครือข่ายรถไฟฟ้า และรถไฟฟ้าใต้ดิน ของกรุงเทพมหานคร ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่มากพอ กล่าวคือ ส่วนต่อขยายต่างๆยังไม่เสร็จครบถ้วนสมบูรณ์พอที่จะทำให้ผู้คนสะดวกสบาย หรือ ตอบโจทย์
เราเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการใช้บริการระบบชนส่งมวลชนสาธารณะมากๆเลย และมองว่า หากระบบขนส่งมวลชนนี้ครอบคลุมทั้งหมด ผู้คนจะหันมาใช้บริการมากขึ้น ปัญหาด้านความหนาแน่นของการจราจรก็จะลดลง รวมถึงอัตราค่าบริการโดยรวม ย่อมลดลง
แต่ในขณะเดียวกัน บางพื้นที่อาจจะไม่เหมาะกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับส่วนต่อขยายต่างๆของระบบรถไฟฟ้า ดังนั้น “รถไฟรางเบา” (Light Rail Transit) และ “รถราง” (Tram) จึงอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับในบางพื้นที่ อย่างเช่น จังหวัดพิษณุโลก (Phitsanulok, Thailand) อีกทั้ง ไม่ขัดต่อ ทัศนียภาพ (View) ของเมืองด้วย
ใช้พื้นที่ไม่เยอะ สามารถใช้ร่วมกับ ทางเท้า (Footpath) หรือ เกาะกลางถนน (Traffic Island) ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก และใช้พื้นที่ไม่น่าจะเกิน 10-15 เมตร ในเส้นทางการเดินรถ โดย จำนวนตู้ต่อหนึ่งขบวน อยู่ประมาณ 1-4 ตู้เท่านั้น
โดยสายแรกที่มองว่า .. คุ้มค่าในการก่อสร้างมากที่สุด คือ จากตะวันออก (Eastern) ไปสู่ด้าน ตะวันตก (Western) กล่าว คือ จาก “สถานีขนส่งจังหวัดพิษณุโลกแห่งใหม่ (สี่แยกอินโดจีน)” ไปยัง บริเวณหน้า “ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลพลาซ่า พิษณุโลก”
และ สายที่ 2 คือ จากทางเหนือ ไป ทางใต้ กล่าวคือ “บ้านเต็งหนาม – ท่าอากาศยานจังหวัดพิษณุโลก” โดยบรรจบกันที่ “สถานีรถไฟพิษณุโลก” ด้วย “ทางเดินลอยฟ้า” (Sky-Walk Path) ออกแบบให้ผู้คนเดินผ่านระหว่างสถานี โดยมีแหล่งการค้าต่างๆ เหมือนกันการออกแบบ สถานีรถไฟ ชิบูยะ (Shibuya Station)
บางคนถามว่า สร้างแล้วใครจะขึ้น ใครจะใช้? .. สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องของการ “สร้างก่อน .. แล้วเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยโมเดล Freemium ทีหลัง” อาทิ รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร ที่เปิดให้ใช้บริการสายใหม่ หรือ สถานีส่วนต่อขยายด้วยการเปิดใช้บริการฟรี 1 อาทิตย์ และเหมือนกับ มี GrabFood และ Foodpanda ที่เข้ามาเปลียนพฤติกรรมการซื้อของของคนพิษณุโลกด้วยส่วนลดต่างๆ ด้วยนั่นเอง เมื่อคนใช้บริการแล้วเกิดความสะดวกสบาย ย่อมมีโอกาสใช้บริการมากยิ่งขึ้น หรือ รู้สึกขาดไม่ได้ เนื่องจากพฤติกรรมการใช้บริการได้เปลี่ยนไปแล้วนั่นเอง
รวมถึง เป็นเรื่องของ “การอำนวยความสะดวก รวดเร็วในการเดินทาง” ที่สามารถมาถึงและออกจากพิษณุโลกได้อย่างสะดวกรวดเร็วนั่นเอง หรือ เรียกว่า “Economy of Speed” เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องสร้าง “สถานีกลางบางซื่อ” (Bang Sue Central Station) และ รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินด้วยเช่นกันนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม: สถานีกลางบางซื่อ สร้างเสร็จแล้วมีประโยชน์อย่างไร
วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น (Japanese Lifestyle) ที่เราพบเห็น
- เราพบว่า .. ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 14.00 น. (2 p.m.) แต่ เด็กนักเรียน ดูเหมือนจะเลิกเรียน และ กำลังกลับบ้านกันแล้ว
- เด็กนักเรียนญี่ปุ่น เดินทางกลับบ้านด้วยตัวเอง ซึ่ง ระยะทางระหว่าง บ้าน กับ โรงเรียน คงไม่ไกลกันมากนัก .. แสดงให้เห็นถึง คุณภาพของการศึกษาที่เท่าเทียมกัน รวมถึง ความปลอดภัยของชุมชน
- ภาพคุณพ่อที่ไปรับลูกกลับจากโรงเรียน ยืนชมแม่น้ำ และพูดคุยกับตามประสาพ่อกับลูก
- ภาพชายคนหนึ่ง กับสุนัขของเขา ที่เวลาประมาณ 14.00 น.
- ภาพแสดงให้เห็นการก่อสร้าง .. พื้นที่ชั้นใต้ดินของพื้นที่ “สถานีรถไฟ ชินางาวะ” (JR Shinagawa Station) ซึ่งจากที่เราดูอย่างคร่าวๆ จะเป็นการวางฐานเหล็กสีแดง (ดังภาพ) และใช้วัสดุ กึ่งพรหมกึ่งแผ่นไม้ (เราไม่รู้ว่าเรียกว่าอะไร) วางบนโครงสร้างเหล็กอีกที ตลอดแนวถนนที่เราเดินมา เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนน และ ผู้คนเดินเท้า ยังสามารถใช้เส้นทางดังกล่าวสัญจรได้ตามปกติ
- ภาพแสดงให้เห็นการก่อสร้าง .. พื้นที่ชั้นใต้ดินของพื้นที่ “สถานีรถไฟ ชินางาวะ” (JR Shinagawa Station) แสดงการจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ
“สถานีรถไฟ ชินางาวะ” (JR Shinagawa Station)
- ภาพแสดงให้เห็น “รถไฟสาย ยามาโนดตะ” (Yamanote Line) ที่วิ่งรอบเมืองโตเกียวเป็นวงกลม หากผู้อ่านนึกอะไรไม่ออก ก็สามารถนั่งรถไฟสายนี้ได้ เพราะเป็นสายที่วิ่งรอบตัวเมืองโตเกียว
Song ♫: Bolbbalgan4 (볼빨간 사춘기) – To My Youth (나의 사춘기에게)
Nakameguro – นากะเมะงุโระ
- ภาพของเด็กนักเรียนตัวน้อย 2 คน กำลังเดินเล่นกันอยู่บริเวณ “นากะเมะงุโระ” (Nakameguro) เป็นภาพที่น่ารักดี เราต้องขอถ่ายภาพจากด้านหลังมาสักหน่อย แสดงให้เห็นถึง ระดับความปลอดภัยของเมืองได้เป็นอย่างดี รวมถึง การที่เด็กวัยขนาดนี้สามารถไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเด็กได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
เรายังเก็บความสงสัยส่วนตัวเอาไว้ว่า ผู้คนละแวกนี้เขามีเวลาทำงานกันกี่โมง รวมถึงเวลาเรียนที่โรงเรียน เวลาเลิกเรียนกี่โมง ทั้งๆที่เวลานี้เป็นเวลาประมาณ 14.00 น. กว่า เท่านั้นเอง
Starbucks Reserve Roastery Tokyo, Japan สตาร์บัคส์ สาขาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
(ดูข้อมูลแล้ว เขาว่ากันแบบนั้น แต่ปัจจุบันที่ประเทศจีนน่าจะใหญ่กว่าแล้ว)
เป็นที่ทราบกันดีว่า Starbucks Thailand อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ Thai Beverage PLC หรือ “ThaiBev” โดยมีทั้งสิ้น ประมาณ 336 สาขา หลังจากที่ กลุ่มไทยเบฟฯได้เข้าซื้อสิทธิในการบริหารกิจการ “สตาร์บัคส์” ในประเทศไทย ในปี 2019
ในส่วน Starbucks Japan อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Starbucks โดยมีสาขาทั้งสิ้น ประมาณ 1,497 สาขา (September, 2019)